สร้างโอกาสด้วยกูเกิล นายหน้าขายสินค้า ให้กับอมาซอนดอตคอม

สร้างโอกาสด้วยกูเกิล นายหน้าขายสินค้า ให้กับอมาซอนดอตคอม
ไม่รู้จะขายอะไร? คือประโยค หลักหักมุมที่ฉุดรั้งคนที่จะก้าวสู่อาชีพผู้ประกอบการให้ถอยกลับอยู่ที่เดิม และเริ่มต้นไม่ได้สักที ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโอกาส และลูกค้าอยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในมือ

แต่สำหรับ “ประ ภาส ซึงศิลป์ “บัณฑิตวิศวฯ เครื่องกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จบการศึกษาเมื่อปีกลาย ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หางานทำไม่ได้ ต้องขวนขวายหาอาชีพจากระบบออน ไลน์ เริ่มจากเปิดเว็บเป็นโบรกเกอร์ หรือนายหน้าขายสินค้า ให้กับอมาซอนดอตคอม ซึ่งก็พอทำได้และเห็นว่าแบบนี้ก็น่าจะทำเองได้ คือหาของที่ไม่เหมือนใครขายบนเว็บ
“จะขายอะไรล่ะ” คำถามอมตะที่เตะตัดขาหน้าใหม่ เจอเข้ากับประภาสเหมือนกัน แต่ความที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่เติบใหญ่มากับวัฒนธรรมกูเกิล www.google.com ที่เชื่อว่า อยากรู้ อยากได้อะไรในโลกนี้ ให้คลิกถาม เขาจึงไม่ตกม้าตายกับโจทย์พื้น ๆ ที่ว่าจะขายอะไร ด้วยการโยนให้กูเกิลช่วยจัดการ

“ผมก็เสิร์ช (สืบค้น) หาว่า ถ้าคนรุ่นใหม่จะค้าขายด้วยเงินทุนหลักหมื่นควรขายอะไร กำหนดกรอบว่าควรมีกำไรบนเว็บสักเดือนละสามพันบาท ทำงาน ได้จากที่บ้าน ก็ ได้ตัวเลือกมา เรื่อย ๆ จนรู้แหล่งผลิตของที่ต้องการจากประเทศจีน ก็ติดต่อสื่อสารกันด้วยโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น แล้วค่อยทดลองสั่งของมาขาย”

สินค้าประเภทอินดี้ คือแนวของประภาส เขาอธิบายว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของที่รู้จักกันในกระแสหลัก หาซื้อยาก เดินตลาดนัดก็ไม่ค่อยเจอ ทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม ซื้อหาเป็นของขวัญให้กันได้ทั้งปี เช่น ลูกแก้วบอก รัก หรือหลอดไฟมีข้อความไอเลิฟยู สำหรับส่งให้เธอหรือเขาคนนั้นที่สถาปนาความเป็นแฟนกันแล้ว ประเภทที่พ่อแม่ซื้อให้ลูกก็มี อาทิ หุ่นยนต์พลังแสงอาทิตย์ แปลงร่างได้ 6 แบบ จัดเป็นของเล่นแนวการศึกษา เพราะจะได้เรียนรู้เรื่องวงจรไฟฟ้าบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ

อมาซอนอินดี้ดอตคอม (amazonindy. com) เป็นชื่อเว็บไซต์ที่ว่า มีที่มาจากชอบชื่อที่หมายถึงป่าหรือทุ่งหญ้าที่มีความหลากหลาย อีกทั้งเคยทำโบรกเกอร์กับอมาซอนมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีเว็บอื่นอีกเบ็ดเสร็จ 4 แห่ง ซึ่งเป็นแนวที่ไม่เหมือนใคร และที่ถือว่าทำรายได้เป็นกอบเป็นกำเลี้ยงตัวได้อีกเว็บก็ คือเว็บขายกล้องโทรทัศน์วงจรปิดปลอม ที่ทำไว้เพื่อหลอกให้ผู้อื่น รวมถึงคนร้ายเข้าใจว่ามีกล้อง แต่บันทึกไม่ได้ ซึ่งขายดี เพราะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และโรงงานหลายแห่งนิยม มีให้เลือกหลากหลาย บางอย่างมีไฟกะพริบให้ดูสมจริงมากขึ้น

“อันนี้ลูกค้าทราบครับ ผมก็แนะนำว่า ควรติดตั้งในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่เหมาะจะใช้ในพื้นที่ซึ่งต้องการของจริง แต่โรงงานหลายแห่งที่ซื้อก็เอาไปใช้ปนกับของจริง เพื่อให้ดูมีเยอะครับ” ประภาสบอกช่องทางธุรกิจของเขา ซึ่งก็ได้แนวทางจากการนั่งสืบค้นผ่านกูเกิลนั่นแหละ

สนใจลองเข้าไปหาข้อมูลที่ เฟกแคม ดอตเน็ต

ถามถึงรายได้จากธุรกิจบนเว็บ ประภาสบอกว่า ผลตอบแทนอยู่ในระดับเลี้ยงตัวได้ และตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เป็นลูกจ้างใคร เพราะเทียบเงินเดือนวิศวกรทำคงต้องทำงานหลายปีกว่าจะได้เท่านี้ แต่กำไรอาจไม่มาก เพียงแต่ได้เงินหมุนเวียน และประสบการณ์ที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น

เขายอมรับว่า เป็นการเริ่มต้นธุรกิจแบบเด็ก ๆ ที่อยากมีอาชีพอิสระ ทำไปเรียนรู้ไป จึงไม่ได้วางเป้าหมายยาวนานนัก แต่ในการค้าขายก็เน้นสร้างความเชื่อถือ เช่น เมื่อมีผู้สั่งของก็สามารถติดตามสถานะได้ คนที่สนใจก็ตรวจสอบได้จากข้อมูลของผู้ซื้อรายก่อน ๆ ที่ปรากฏบนเว็บบอร์ด

และหากคนรุ่นใหม่อยากเริ่มต้น ธุรกิจ แต่ไม่ทราบจะนับหนึ่งตรงไหน ประภาสบอกว่า ก็ใช้วิธีหาจากกูเกิล โดยกำหนดกรอบการค้นหาให้ได้คำตอบที่ต้องการ และควรเป็นนักแสวงหาข้อมูลไป เรื่อย ๆ แต่อย่าไปเชื่อคำชักชวนให้หาเงินทางเน็ต เพราะมีโอกาสถูกหลอกลวง

จะได้หมดปัญหาเสียที ว่าไม่รู้จะขายอะไร.

วีระพันธ์ โตมีบุญ
VeeraphanT@gmail.com
ที่มา เดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก