มารู้จักกับเงินฝาก และกองทุนที่มีอนุพันธ์ทางการเงิน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการของผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทในแวดวงการเงินการธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ และต่างประเทศ การลงทุนในหุ้นจดทะเบียนในประเทศไทย และการนำหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆผ่านกองทุนรวม เช่น ทองคำ และ น้ำมันดิบ เป็นต้น
แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เงินฝากเองก็มีความหลากหลายกว่าในอดีต จากเดิมที่มีเพียงเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ ในปัจจุบันเงินฝากออมทรัพย์ที่เคยเบิกถอนได้ทุกวัน ก็มีบางธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ประเภทถอนได้เดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือการฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำจากเดิมกว่าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ ก็ต้องฝากจนครบระยะเวลาที่กำหนด แต่มาตอนนี้การแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้บางธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำที่ยินยอมให้ลูกค้าถอนเงินฝากประจำก่อนครบกำหนดได้เป็นระยะๆ เช่น ทุก 3 เดือน โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในช่วงเวลานั้นๆ และไม่มีค่าปรับ
โอกาสนี้ ผมขอเล่าให้ฟังถึงผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทย นั่นคือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีการจ่ายผลตอบแทนผูกกับผลตอบแทนของตราสารการลงทุนอื่นๆ เช่น ตราสารที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง (Structured Product) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของกองทุนรวม หรือเงินฝากประจำ ซึ่งหากเป็นรูปแบบของกองทุน ก็มักจะเป็นกองทุนประเภทจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด ส่วนการจ่ายผลตอบแทนของกองทุนจะอ้างอิงกับดัชนีฯทางการเงินที่กำหนด โดยตัวอย่างของกองทุนประเภทนี้ที่มีการเสนอขายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็ เช่น กองทุนเปิดเคแทม คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ไชน่า ลิงค์ (KTAM Complex Return China-Linked Fund) ของบลจ.กรุงไทย อายุโครงการประมาณ 1 ปี 11 เดือน ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิง อันได้แก่ Hang Seng Investment Index Funds Series - H-Share Index ETF (2828 HK) กล่าวคือ หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงเพิ่มขึ้น ณ วันสิ้นสุดโครงการ น้อยกว่า 35% จากวันเริ่มต้น กองทุนจะได้รับผลตอบแทน 70% ของการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์อ้างอิงดังกล่าว และหากราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิงเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 35% ของราคาเริ่มต้น ณ สิ้นวันใดวันหนึ่งตลอดอายุของกองทุน จะถือว่าเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนสมบูรณ์ หรือเรียกว่ามีการ “Knock out” เกิดขึ้น กรณีนี้ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนคงที่เท่ากับ 5% ของมูลค่าเงินลงทุนตลอดอายุกองทุน
แต่ถ้าราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันสิ้นสุดอายุกองทุน (Final Price) น้อยกว่าราคาเริ่มต้น หรือพูดง่ายๆก็คือราคาปิดของสินทรัพย์อ้างอิงลดลง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนเริ่มแรกคืน โดยไม่ได้รับผลตอบแทน กล่าวคือ ไม่ขาดทุนนั่นเอง
สำหรับอีกกองทุนหนึ่งที่เพิ่งเสนอขายล่าสุดก็คือ กองทุนเปิด ยูโอบี ซีเล็ค โกลด์ ซึ่งเป็นกองทุนรวมพิเศษที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนเชื่อมโยงกับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อ้างอิง (กองทุนทองคำ) ที่เป็นหน่วยลงทุนประเภท ETF ของ SPDR Gold Trust ซึ่งหากราคาของสินทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวปิดเพิ่มขึ้นไม่เกิน 29.99% ในเวลา 1 ปี 10 เดือน ณ วันสิ้นกำหนดอายุโครงการ กองทุนจะได้รับผลตอบแทน 100% ของราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกรณีเหตุการณ์ที่ราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันใดวันหนึ่งตลอดช่วงระยะเวลาการลงทุนเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 30% เมื่อเทียบกับวันจดทะเบียนเริ่มต้นกองทุน (Knock Out) กองทุนจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ 4% ตลอดอายุกองทุน แต่หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงขาดทุน ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทน กล่าวคือ ไม่ขาดทุนนั่นเอง โดยทั้งสองกองทุน หลักทรัพย์ที่กองทุนนำไปลงทุนเพื่อนำมาจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดคือพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (กองทุนดังกล่าวข้างต้นได้ปิดการเสนอขายไปแล้ว การกล่าวถึงกองทุนทั้งสองกองทุนในที่นี้ เป็นไปเพื่อประกอบการอธิบายลักษณะของกองทุนประเภท Structured Fund เท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด การลงทุนในกองทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน)
หากพิจารณาดูจากตัวอย่างกองทุนที่เป็น Structured Fund ข้างต้น จะเห็นว่า ทางเลือกการลงทุนที่สามารถได้รับเงินต้นคืน 100% ในรูปเงินบาทเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน จากการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์อ้างอิง โดยไม่ต้องขาดทุนหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงติดลบ จะมีอยู่ในกองทุนลักษณะเช่นนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักๆของกองทุนประเภทนี้คือต้องถือหน่วยลงทุนจนครบอายุของกองทุน ไม่สามารถซื้อขายได้อย่างอิสระเหมือนกองทุนเปิดทั่วไป
สำหรับผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ที่มีการเสนอแก่ประชาชนทั่วไปในรูปของเงินฝาก ก็จะเป็นเงินฝากประจำที่มีอนุภัณฑ์ทางการเงินแฝง (Structured Deposit) ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นเงินฝากธนาคาร ธนาคารก็ต้องมีพันธะผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนเงินต้นให้แก่ผู้ฝากเงินในทุกกรณี ซึ่งความเสี่ยงของเงินต้นในปัจจุบันก็เป็นไปตามฐานะทางการเงินของธนาคารนั้นๆ โดยเงินฝากประเภทนี้จะมิได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เหมือนเงินฝากทั่วไปประเภทอื่นๆ สำหรับในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะเป็นไปตามทิศทางความเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิง โดยไม่ว่าดัชนีอ้างอิงจะเป็นอะไร ขาดทุนไปมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่กระทบกับเงินต้น เพราะดัชนีอ้างอิงในที่นี้เป็นเพียงตัวแปรกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งเงินฝากประเภทนี้อาจมีความซับซ้อนมากก็ได้ เช่น จ่ายดอกเบี้ยตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้น หรือกำหนดให้จ่ายผลตอบแทนเมื่อดัชนีหุ้นติดลบก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามแต่จะมีการตกลงกันระหว่างธนาคารกับผู้ฝากเงินก่อนการฝากเงินและมีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ต้น หรืออาจเป็นเงินฝากที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงแบบง่ายๆ เช่น เงินฝากประจำอายุ 12 เดือน จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ที่อัตรา 2% ต่อปี หากแต่ธนาคารมีสิทธิคืนเงินต้นพร้อมจ่ายดอกเบี้ยเมื่อสิ้นเดือนที่ 6 ได้ (Callable)
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบบมีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง เช่น
1. มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำ หรืออาจสูงเทียบเท่าการลงทุนในหุ้นได้ (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด)
2. สามารถเลือกรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกลไกการคุ้มครองเงินต้น (เหมาะสำหรับผู้ไม่พร้อมรับการขาดทุนจากการลงทุน)
เรามาทำความรู้จักในรายละเอียดของการลงทุนแบบนี้กันดีกว่าว่ามันคืออะไร และเหมาะกับใคร โดยทฤษฎีแล้ว การอธิบายคำจำกัดความของตราสารที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงอย่างสั้นๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการทำงานของตราสารอนุพันธ์มาก่อน แต่หากกล่าวโดยสรุปก็คือ ตราสารอนุพันธ์เป็นตราสารทางการเงินหรือตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนของการลงทุนแปรผันตามมูลค่าของสินทรัพย์หรือดัชนีที่อ้างอิง
จากแผนภาพ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น สมมติระยะเวลาการลงทุน 2 ปี เงินลงทุน 100 บาท และอัตราดอกเบี้ยในตลาดฯอยู่ที่ 5% ต่อปี ดังนั้น ผู้ออกตราสารจะนำเงิน 90.7 บาทไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น เมื่อครบ 2 ปี จะได้เงินต้น 100 บาทพอดี (ดอกเบี้ย 5% ทบต้น-ทบดอก) และนำส่วนที่เหลือไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Derivative Instruments) ซึ่ง เป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่มูลค่าหรือราคาจะอิงกับมูลค่าหรือราคาของสินค้าที่ตราสารอนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Assets) โดยตราสารอนุพันธ์นี้จะเป็นตัวสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นได้ หากการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงเป็นไปตามที่เราคาดไว้
จากกลไกดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นการช่วยจำกัดความเสี่ยงได้ดี โดยไม่ว่าดัชนีอ้างอิงจะเป็นไปอย่างที่เราคาดไว้หรือไม่ก็ตาม หากผู้ออกตราสารหนี้ที่เราไปลงทุนไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 90.7 บาท สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้เมื่อครบอายุตราสาร ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินต้นคืนแน่นอน
ดังนั้น คนที่กล้าๆ กลัวๆ อยากกระจายการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น แต่ไม่อยากขาดทุน หรือแม้แต่คนที่ลงทุนในหุ้นอยู่ชนิดเจ็บแล้วไม่จำ ลองมองดูเงินฝากประเภทที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง หรือกองทุนประเภทจ่ายคืนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน โดยลงทุนในตราสารที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝงอยู่ดู ซึ่งนอกจากจะได้การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนอ้างอิงกับตราสารหรือดัชนีของต่างประเทศได้โดยไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หากแต่การลงทุนในตราสารเหล่านี้ ต้องแบ่งเงินในสัดส่วนที่พอเหมาะ ซึ่งโดยปกติไม่ควรเกิน 10% ของเงินออม เพราะจะถอนเงิน (กรณีเงินฝาก) หรือขายคืน (กรณีกองทุน) ก่อนครบกำหนดไม่ได้ รู้อย่างนี้แล้ว การลงทุนหรือฝากเงินครั้งต่อไปอย่าลืมมองหาทางเลือกใหม่ๆให้ตัวเองนะครับ
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ข่าวหุ้น,ตลาดหุ้น,ข่าวธุรกิจ,การซื้อขาย,สกุลเงินซื้อขาย,trading currency,forex trader,forex online trading,forex trading,trade,traing
คลังบทความของบล็อก
-
►
2011
(73)
- ► กุมภาพันธ์ (11)
-
▼
2010
(29)
-
▼
ธันวาคม
(23)
- สรุปข่าวเด่นเศรษฐกิจปีเสือ
- “เฟซบุ๊ก” เปิดสงครามสื่อสังคมชิงบัลลังก์ “กูเกิล”
- ทิศทางหุ้น
- มารู้จักกับเงินฝาก และกองทุนที่มีอนุพันธ์ทางการเงิน
- คุณค่าของคน:อยู่ที่ตัวเอง-2 (นายสตีฟ จอบส์)
- คุณค่าของคน : อยู่ที่ตัวเอง-1 (นายสตีฟ จอบส์)
- คำกล่าวสุนทรพจน์ของนายสตีฟ จอบส์
- ภารกิจใหม่ ไปรษณีย์ไทย
- สร้างโอกาสด้วยกูเกิล นายหน้าขายสินค้า ให้กับอมาซอน...
- ตรึงราคาน้ำมันเอาใจคนไทยถึงหลังปีใหม่
- ช่องทางทำกิน'สระน้ำน้องหมา'อินเทรนด์...เป็นกำไร
- ทำเงินบนโลกไอที (47) : "นักเล่น Social Network" อา...
- ทำเงินบนโลกไอที (49) - Joomla! เล็กรวยได้ ใหญ่รวยดี
- 10 แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นบนโลกไอที ในปี 54
- ไม่ว่าอาชีพไหนก็ขาดแผนการเงินไม่ได้
- ลงทุนตราสารหนี้...เพราะไม่ถูกโฉลกกับหุ้น
- ทำไมต้องทำ "ประกันบำนาญ"
- "ชนัดดา อติเศรษฐ์"ไม่สำคัญว่าหาได้เท่าไร...แต่จะออ...
- ปชป.รอดหนุนหุ้นขึ้น10จุด โบรกฯแนะติดตามปัจจัยนอก-ก...
- ผักผลไม้สีม่วงช่วยลดโรค
- "บ้านดิน" กระแสใหม่ "รักสุขภาพ"
- ทุนต่างชาติท่วมตลาดหุ้น-พันธบัตร ชี้ปีหน้าบาทแตะ28...
- เฟซบุ๊กปรับหน้า นักวิเคราะห์คาดทำเงินได้มากขึ้น
-
▼
ธันวาคม
(23)