คุณค่าของคน : อยู่ที่ตัวเอง-1 (นายสตีฟ จอบส์)


ในงานพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา โดยปกติจะมีการเชิญบุคคลที่มหาวิทยาลัยพิจารณาว่าประสบความสำเร็จในชีวิตมากล่าวสุนทรพจน์ให้กับนักศึกษาฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อคิดกับนักศึกษาที่กำลังออกไปทำงาน ซึ่งในสังคมตะวันตกแล้วจะให้การยกย่องเชิดชูผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างตัวเองเป็นอย่างมาก ดังนั้นในการกล่าวสุนทรพจน์บางครั้งท่านเหล่านั้นอาจพูดถึงจุดเปลี่ยนผันที่สำคัญของชีวิตที่ต้องมีการตัดสินใจ

ผู้เขียนได้รับเมลบทความนี้จากเพื่อนเก่าท่านหนึ่ง และเห็นว่าเป็นสุนทรพจน์ที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไทย จึงได้คัดลอกสุนทรพจน์จากวิกิพีเดียที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลกของนายสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกในฐานะผู้ก่อตั้งแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ และผู้สร้างแมคอินทอช สุนทรพจน์ที่นายจอบส์แสดงในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2005 ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ในวันนั้น แต่ยังรวมไปถึงโลกคอมพิวเตอร์ และยังคงได้รับการชื่นชมและกล่าวขวัญไปทั่วโลกจนถึงวันนี้ นายจอบส์เล่าถึงบทเรียนในชีวิตของเขา 3 บท แต่เป็น 3 บท ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

บทเรียนบทแรกนายจอบส์ เรียกว่า “การลากเส้นต่อจุด” เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะได้ลาออกหลังจากเรียนในมหาวิทยาลัยรีด (Reed College) ได้เพียง 6 เดือน เหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยนั้น มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิด เพราะแม่ที่แท้จริงของเขาซึ่งเป็นนักศึกษาสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานไม่ต้องการเลี้ยงดูเขา และตัดสินใจยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก แต่เธอมีเงื่อนไขว่าพ่อแม่บุญธรรมของลูกของเธอจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย และเขาเกือบจะได้เป็นลูกบุญธรรมของนักกฎหมายที่จบมหาวิทยาลัยและมีฐานะดี ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายว่า พวกเขาไม่ต้องการเด็กผู้ชาย ซึ่งกว่านายจอบส์จะได้พ่อแม่บุญธรรมก็เป็นเวลาอีกหลายเดือนหลังจากเขาเกิด เนื่องจากแม่ที่แท้จริงของเขาจับได้ว่า ว่าที่พ่อแม่บุญธรรมของนายจอบส์ได้ปิดบังระดับการศึกษาที่แท้จริงซึ่งพ่อบุญธรรมไม่ได้เรียนมัธยมด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเธอก็ได้ยอมเซ็นยกนายจอบส์ให้แก่พ่อแม่บุญธรรม เมื่อพวกเขารับปากว่าจะส่งเสียให้จอบส์ได้เรียนมหาวิทยาลัย

17 ปีต่อมา นายจอบส์ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสมตามความต้องการของแม่ที่แท้จริง ผู้ไม่เคยเลี้ยงดูเขาแต่ต้องการกำหนดชะตาชีวิตของลูก เพียง 6 เดือน ในมหาวิทยาลัยรีด นายจอบส์ใช้เงินเก็บที่พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นเพียงชนชั้นแรงงานได้สะสมมาตลอดชีวิต หมดไปกับค่าเล่าเรียนที่แสนแพง นายจอบส์ตัดสินใจลาออก เพราะเขามองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถช่วยให้เขาคิดได้ว่าเขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต แม้มองกลับไปเขาจะรู้สึกว่า การตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลาออกทำให้เขาไม่ต้องฝืนเข้าเรียนในวิชาปกติที่บังคับเรียนซึ่งเขาไม่เคยชอบหรือสนใจ แต่สามารถเข้าเรียนในวิชาที่เขาเห็นว่าน่าสนใจได้

แต่เขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นชีวิตที่ยากลำบากเมื่อเขาไม่ได้เป็นนักศึกษาจึงไม่มีห้องพักในหอพัก และต้องนอนกับพื้นในห้องของเพื่อน ต้องเก็บขวดโค้กที่ทิ้งแล้วไปแลกเงินมัดจำขวดเพียงขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหาร และต้องเดินไกล 7 ไมล์ทุกคืนวันอาทิตย์ เพื่อไปกินอาหารดี ๆ สัปดาห์ละหนึ่งมื้อที่โบสถ์

เป็นอย่างไรบ้างคะ การตัดสินใจที่ไม่เรียนในมหาวิทยาลัยจนจบ ที่เกิดจากปัจจัยทางด้านการเงินที่นายจอบส์ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่บุญธรรม การไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้หมายถึงว่าคนเราจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร ซึ่งขอให้ติดตามต่อในสัปดาห์หน้านะคะว่านายจอบส์ประสบความสำเร็จได้อย่างไร.

อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
ที่มาเดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก