คุณค่าของคน:อยู่ที่ตัวเอง-2 (นายสตีฟ จอบส์)


ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เขียนถึงสุนทรพจน์ของนายสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์แอปเปิลที่ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่กล่าวถึงประสบการณ์ที่สำคัญในชีวิตของเขา

ซึ่งเขามีการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ในชีวิตและหนึ่งในนั้นคือ การตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยภายหลังจากที่เข้าไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยรีดได้เป็นเวลาเพียง 6 เดือน เนื่องจากเหตุผลทางการเงินที่บิดา-มารดาบุญธรรมต้องใช้เงินเก็บเกือบทั้งหมดในการส่งเสียให้เขาได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งนี้ จึงไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้บิดา-มารดาบุญธรรม

อย่างไรก็ตามภายหลังจากลาออกจากมหาวิทยาลัย และประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต แต่เขาก็ยังโชคดี เขาสามารถเลือกที่จะไปเข้านั่งเรียนเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้ที่สนใจ และวิชาทั้ง หลายที่เขาได้เรียนในช่วงนั้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน โดยเลือกเรียนตามแต่ความสนใจและสัญชาตญาณของเขาจะพาไป จนกลายมาเป็นความรู้ที่หาค่ามิได้ให้แก่ชีวิตของเขาในเวลาต่อมา และหนึ่งในนั้นคือ วิชาศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร (calligraphy)

นายจอบส์ยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ยังมองไม่ออกเช่นกันว่า จะนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคตของเขา

แต่ 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อเขากับเพื่อนช่วยกันออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเครื่องแรก วิชานี้ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไม่เคยนึกฝันมาก่อนและทำให้แมคอินทอชกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟที่สวยงาม

ถ้าหากเขาไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็คงจะไม่เคยเข้าไปนั่งเรียนวิชานี้ และก็คงไม่อาจจะมีตัวอักษรแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย หรือที่มีการเรียงพิมพ์ที่ได้สัดส่วนสวยงาม

รวมทั้งเครื่องพีซี ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์วินโดว์ต่อมาได้ที่ลอกแบบไปจากแมคอินทอช อีกต่อหนึ่งก็เช่นกัน คงจะไม่มีตัวอักษรสวยงามให้ใช้อย่างที่มีอยู่ในตอนนี้

อย่างไรก็ตามนายจอบส์บอกว่า ในเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถ “ลากเส้นต่อจุด” หรือหยั่งรู้อนาคตได้ว่า วิชาออกแบบและประดิษฐ์ตัวอักษร (คอลลิกราฟฟี่) จะกลายเป็นความรู้ ที่มีประโยชน์ในการออกแบบแมคอินทอช เขาเพียงสามารถจะลากเส้นต่อจุดกับการค้นเครื่องแมคอินทอชได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้น

ในเมื่อไม่มีใครที่จะลากเส้นต่อจุดไปในอนาคตได้ ดังนั้นคำแนะนำของจอบส์ก็คือ คุณจะต้อง “ไว้ใจและเชื่อมั่น” ว่า จุดทั้งหลายที่ได้ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะ หาทางลากเส้นต่อเข้าด้วยกันเองในอนาคต ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา โชคชะตาชีวิต หรือกฎแห่งกรรม ขอเพียงแต่คุณต้องมีศรัทธาในสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่

จากประสบการณ์ชีวิตของนายสตีฟ จอบส์ ตลอดจนผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นว่า การได้เข้าเรียนและจบจากมหา วิทยาลัยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างตัวและสร้างความสำเร็จในชีวิตเลย แต่การจะรู้อะไรนั้นขอให้มีความรู้จริงและลึกซึ้ง ดังคำกลอนของสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ซึ่งหมายถึงความรู้อะไรนั้นมีสองประเภท คือรู้ให้ลึกหรือรู้ให้กว้าง ซึ่งหากมีความตั้งใจและมีความอุตสาหะก็ประสบความสำเร็จได้

ดังที่นายจอบส์ได้เลือกเรียนในเฉพาะ วิชาที่ชอบ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาพื้นฐานอื่น ๆ ที่ไม่ชอบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์จนกระทั่งเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการคอมพิวเตอร์

บางคนอาจจะมีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านภาษา การร้องเพลง หรือบางคนจะถนัดการซ่อมแซมเครื่องจักรเครื่องยนต์ และอื่น ๆ ซึ่งก็สามารถใช้ความชำนาญพิเศษนั้นในการเลี้ยงชีพได้.


อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
ที่มา เดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก