บันทึกอาเซียน | อาเซียน 2012 "One Community, One Destiny"

บันทึกอาเซียน | อาเซียน 2012 "One Community, One Destiny" | “หนึ่งประชาคม, หนึ่งเป้าหมายปลายทาง”
แม้ว่าจะเป็นข้อความที่หรูหรา,งดงาม และยิ่งใหญ่ และยากยิ่งนักที่จะทำตามคำขวัญให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้
คำขวัญของอินโดนีเซียสำหรับอาเซียนปี 2011 คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” | “ประชาคมอาเซียนในประชาคมประชาชาติโลก”

จะเปลี่ยนไปเป็นคำขวัญใหม่ของกัมพูชา ปี 2012 ว่า "One Community, One Destiny" | “หนึ่งประชาคม, หนึ่งเป้าหมายปลายทาง”

แม้ว่าการกำหนดคำขวัญประจำปีจะถือเป็นประเพณีของอาเซียนไปแล้ว ที่ประเทศผู้เป็นประธานจะต้องคิดคำขวัญใหม่ๆมาเป็นสัญญลักษณ์บ่งบอกทิศทางของอาเซียนในแต่ละปีที่ประเทศสมาชิกทำหน้าที่ประธาน และคำขวัญนั้นก็เป็นเอกสิทธิ์ของประเทศประธานที่จะคิดเอาเองตามที่เห็นว่างดงาม มีความหมายเหมาะสม และประเทศประธานอาเซียนพร้อมที่จะนำทางอาเซียนไปตามความหมายในทางปฏิบัติของคำขวัญที่คิดขึ้นมาให้ได้ แต่จะทำได้มากน้อยเพียงไรก็ไม่ถือเป็นการบังคับหรือจะต้องมีการประเมินผลกัน ทว่าในการทำงานจริงๆเวลาเพียงปีเดียวก็นับว่าสั้นมากเกินกว่าที่จะบรรลุเป้าประสงค์ของคำขวัญใหญ่ๆทั้งหลายได้
ขึ้นชื่อว่า “คำขวัญ” ด้วยแล้ว ก็มักจะมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น

แม้ว่าจะเป็นข้อความที่หรูหรา,งดงาม และยิ่งใหญ่ และยากยิ่งนักที่จะทำตามคำขวัญให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้ แต่การมีคำขวัญก็สะท้อนความต้องการของอาเซียนที่อยากได้อยากทำ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คำขวัญประจำปีของอาเซียนยังสะท้อนอารมณ์และปัญหาของอาเซียน และสะท้อนได้อย่างชัดเจนด้วย

ในปี 2008-2009 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ประกาศคำขวัญประจำปีว่า “ASEAN Charter for the ASEAN Peoples”| “กฎบัตรอาเซียน สำหรับประชาชนอาเซียน” : คำขวัญนี้สะท้อนปีที่เป็นหมุดหมายและจุดหักเหสำคัญในชีวิตของอาเซียนว่า จากปี2008-1009 นี้ เป็นต้นไปอาเซียนจะไม่ใช่องค์กรหรือสมาคมของชาติสมาชิกที่จะอยู่กันไป...ประชุมกันไป...ตกลงประกาศปฏิญญาและแถลงการณ์ร่วมกันไป..โดยไม่รับผิดชอบอะไรกันต่อไปอีกดังที่ผ่านๆมาไม่ได้แล้ว เพราะอาเซียนมีกฏบัตรเป็นเสมือนกฎหมายสูงสุดเฉกเช่นรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อกำหนดและบทบัญญัติบังคับให้รัฐสมาชิกทั้งสิบต้องทำตามอย่างเคร่งครัดชัดแจ้ง นอกจากนั้นยังบอกด้วยว่ากฎบัตรอาเซียนนั้นจัดทำกันขึ้นมาก็เพื่อบังคับอาเซียนทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนพลเมืองของอาเซียนโดยตรง...กฎบัตรอาเซียนต้องการให้ประชาชนอาเซียนทั้งสิบประเทศเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางและอนาคตของอาเซียนโดยรวมและโดยตรง อย่าได้ปล่อยให้อาเซียนเป็นเพียงที่ประชุมของผู้นำรัฐ, เจ้าหน้าที่รัฐ, ข้าราชการ, หรือข้ารัฐการ เท่านั้น

ปีต่อมา คือปี 2010 เวียดนามเป็นประธานอาเซียน ใช้คำขวัญว่า : “Towards ASEAN Community: From Vision to Actions”| “สู่ประชาคมอาเซียน : จากวิสัยทัศน์สู่การ. ปฏิบัติ” : คำขวัญนี้แสดงถึงปัญหาใหญ่และปัญหาหลักของอาเซียนตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมาว่า อาเซียนเอาแต่ประประชุมกันเป็นงานหลัก ประชุมเล็ก ประชุมใหญ่กัน ปีละ 700-800 ครั้ง พูดกันลงนามกันอีกว่าจะสร้างประชาคมอาเซียน ประกาศวิสัยทัศน์อาเซียนปี 2020 ก็ประกาศแล้ว ย่นระยะเวลาวิสัยทัศน์เฉพาะเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนเข้ามาให้เร็วขึ้นอีกห้าปี เป็นปี 2015 ก็ประกาศแล้วแถลงอีก คราวนี้เวียดนามในฐานะเจ้าภาพคงมองเห็นว่าพูดกันมากแล้วควรจะลงมือทำกันจริงจังเสียที่ คำขวัญของเวียดนามปี 2010 แสดงทัศนะเชิงลบต่ออาเซียนและอยากแก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ทันที

ขณะที่คำขวัญของไทยในปีก่อนหน้าเป็นคำขวัญเชิงอุดมคติ ตลอดปี 2008-2010 ผลงานของไทยก็บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง ภาคประชาสังคมและพลเมืองอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของอาเซียนและร่วมการประชุมในภาคพลเมืองมากยิ่งขึ้น ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อสารมวลชน เด็กและเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้แทนของภาคส่วนต่างๆของประชาชนพลเมืองอาเซียนเข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นและได้เข้าพบผู้นำอาเซียนพร้อมทั้งส่งต่อความเห็นของกลุ่มตนไปยังผู้นำอาเซียนได้โดยตรง

ส่วนปีประธานเวียดนาม 2010 นั้น ความต้องการที่จะทำงานให้ได้ผลในทางปฏิบัติก็เป็นไปตามครรลองของความตกลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความจำกัดของกาลเวลาและระบบการทำงาน

มาถึงปีอินโดนีเซีย 2011 คำขวัญที่ว่า “ASEAN Community in a Global Community of Nations” | “ประชาคมอาเซียนในประชาคมประชาชาติโลก” : เป็นคำขวัญเชิงนามธรรมที่จะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีหากต้องการแปรให้เป็นรูปธรรม เพราะเวลาปีเดียวไม่สามารถเอื้อให้อาเซียนริเริ่มบทบาทในเวทีโลกได้มากมายนัก ยกเว้นงานตามปรกติในเวทีประชุมระดับโลก เช่นที่องค์การสหประชาชาติ ที่ประชุมกลุ่ม G-10 และ G-20 ซึ่งอาเซียนจะได้รับเชิญไปร่วมประชุมด้วยและอินโดนีเซียมีบทบาทโดยตรงในฐานะสมาชิกประจำในกลุ่ม G-20 อยู่แล้ว เรื่องที่จะเพิ่มบทบาทให้อาเซียนทำมากขึ้นในเวทีโลกนั้นจำต้องใช้เวลาและแสวงหาโอกาสต่อเนื่องในระยะยาว

แล้วเวลาก็ผ่านไปอีกปีหนึ่ง มาถึงปี 2012 กัมพูชาประกาศคำขวัญเชิงอุดมคติว่า : "One Community, One Destiny" | “หนึ่งประชาคม, หนึ่งเป้าหมายปลายทาง” : เป็นการย้ำเรื่องเดิมที่อาเซียนห่วงใย คือเรื่องการร่วมอยู่ด้วยกันเป็นประชาคมเดียวกัน มีสิบประเทศมากกว่าสิบศาสนา นับร้อยภาษาถิ่นและภาษาประจำชาติ ท่ามกลางความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม คำขวัญที่กัมพูชายึดเป็นหัวใจของอาเซียนในปี 2012 นั้น ไม่ได้เสนอแนวคิดอะไรแปลกใหม่ นอกจากจะเน้นย้ำให้อาเซียนสามัคคีกัน ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางเดียวกัน อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การย้ำเรื่องความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนอาจมิได้สะท้อนว่าอาเซียนมีปัญหาเรื่องความไม่สามัคคีกันแต่ประการใด หากแต่อาจจะสะท้อนเพียงว่าความพยายามที่จะสร้างประชาคมอาเซียน ณ เวลานี้ดูออกจะชักช้าร่ำไรไปสักนิด ความรู้สึกเร่งด่วนในการสร้างประชาคมที่มีเป้าหมายปลายทางเดียวกันของเราชาวอาเซียนน่าจะต้องถูกปลุกเร้าให้ตื่นจากภวังค์โดยด่วน!

"One Community, One Destiny" | “หนึ่งประชาคม, หนึ่งเป้าหมายปลายทาง” คือคำขวัญนำทางอาเซียนในปี 2012 ที่ราชอาณาจักรกัมพูชาถึงวาระที่จะเป็นผู้นำอาเซียนอีกครั้ง

ขอต้อนรับกัมพูชา เข้าสู่สถานภาพการเป็นประธานอาเซียนในปี 2012

ด้วยความยินดียิ่ง.

สมเกียรติ อ่อนวิมล
ที่มา เดลินิวส์