กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีผลตอบแทนติดลบได้หรือไม่

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีผลตอบแทนติดลบได้หรือไม่
ในโลกของการออมเงินนั้น นอกจากเราจะสามารถออมเงินด้วยตนเองโดยการนำเงินในส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายประจำวันแล้วนำไปเก็บไว้กับตนเองหรือนำไปฝากไว้ที่ธนาคารเพื่อจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินนั้น

ปัจจุบันยังมีการออมเงินต่อเนื่องระยะยาวอย่างเป็นระบบสำหรับสะสมเงินไว้ใช้ในอนาคตเพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทห้างร้านต่างๆเมื่อลาออกจากงาน เกษียณอายุการทำงาน หรือเสียชีวิต ซึ่งเรียกว่าการออมเงินในระบบ

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ถือว่าเป็นสวัสดิการที่นายจ้างและลูกจ้างสมัครใจร่วมกันออมเงิน โดยเงินที่ลูกจ้างสมัครใจจ่ายเข้ากองทุนฯเรียกว่า “เงินสะสม” และเงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มเติมเข้ากองทุนฯเรียกว่า“เงินสมทบ”

ระบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเห็นว่าลูกจ้างอยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเงินของกองทุนฯไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม โดยปรึกษากับบริษัทจัดการกองทุนเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ รวมทั้ง กำหนดอัตราผลตอบแทนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่สมาชิกทุกคนจะยอมรับได้


ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ในการออมเงินระยะยาวและเป็นเงินก้อนสุดท้ายของลูกจ้างเพื่อใช้ในยามชราภาพ กองทุนฯจึงต้องมีการกำหนดนโยบายการลงทุนอย่างรอบคอบ

การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น เราลองมาพิจารณาดูว่าบริษัทจัดการจะนำเงินกองทุนฯไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้างและมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ตามรายละเอียดประเภทหลักทรัพย์ ต่อไปนี้

หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้

1. เงินฝากธนาคาร เป็นการออมเงินแบบที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากรัฐบาลรับประกันผู้ฝากเงิน แต่ก็ได้รับผลตอบแทนต่ำ

2. ตั๋วเงินคลัง เป็นตราสารระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี รัฐบาลเป็นผู้ออกจำหน่ายเพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นจากประชาชน ถือว่าปลอดความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินคืนเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ออกตราสาร แต่ก็ได้รับผลตอบแทนต่ำ

3. ตั๋วแลกเงิน/ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน ซึ่งผู้ออกตั๋วจะชำระเงินให้แก่ผู้ถือตามจำนวนเงินและเวลาที่กำหนดบนหน้าตั๋ว อายุตั๋วส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง ขึ้นอยู่กับผู้ออกตั๋ว เพื่อลดความเสี่ยงควรเลือกผู้ออกตั๋วที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating) ในระดับ AA ขึ้นไป

4. พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง จัดว่าเป็นตราสารที่ปลอดความเสี่ยงจากการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ผลตอบแทนจะสูงกว่าเงินฝากธนาคาร แต่จะมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาพันธบัตรรัฐบาล

5. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายพันธบัตรรัฐบาลแต่ผู้ออกตราสารเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย

6. หุ้นกู้ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยธุรกิจเอกชน ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดและกำหนดการคืนเงินต้นไว้แน่นอน ความเสี่ยงของหุ้นกู้อยู่ในระดับปานกลางขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้และความผันผวนของราคาหุ้นกู้ แต่ผลตอบแทนจะสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงควรเลือกผู้ออกตั๋วที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating) ในระดับ AA ขึ้นไป

หลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน

1. หุ้นสามัญ เป็นหลักทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการในฐานะผู้ถือหุ้น โดยมีผลตอบแทนเป็นเงินปันผลเมื่อกิจการมีกำไร หรืออาจมีกำไร/ขาดทุน จากการถือหุ้นเมื่อราคาหุ้นในตลาดสูงกว่า/ต่ำกว่า ราคาทุนที่ซื้อหุ้นมา ดังนั้น การลงทุนในหุ้นสามัญจึงมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้

2. หน่วยลงทุน เป็นหลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุน แล้วจัดสรรเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ในสัดส่วนและเกณฑ์ตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งหน่วยลงทุนตราสารหนี้และหน่วยลงทุนตราสารทุน ระดับความเสี่ยงขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน

เมื่อทราบคุณลักษณะและความเสี่ยงของแต่ละหลักทรัพย์แล้ว ลำดับต่อไปเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนที่บริษัทจัดการจะนำเงินของกองทุนฯไปลงทุน ซึ่งปัจจุบันนโยบายการลงทุนที่ได้รับความนิยมมีดังต่อไปนี้

1. นโยบายการลงทุนในตลาดเงิน เน้นการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้แบบกำหนดชำระเงินเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำสุด แต่ได้รับผลตอบแทนต่ำ

2. นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ทุกชนิดที่มีอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี ให้ผลตอบแทนต่ำ และเนื่องจากตราสารอายุสั้นราคาจึงไม่ค่อยผันผวนมากนัก

3. นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ทุกชนิดที่มีอายุตราสารเกิน 1 ปี ขึ้นไปสามารถให้ผลตอบแทนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาตราสารหนี้ที่ลงทุน

4. นโยบายการลงทุนแบบผสม เป็นการลงทุนผสมระหว่างเงินฝาก ตราสารหนี้ และตราสารทุน ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ สามารถให้ผลตอบแทนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนของหลักทรัพย์

5. นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เน้นการลงทุนในหุ้นสามัญเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65%ของมูลค่ากองทุน นับว่าเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยงมากสุดในจำนวนนโยบายการลงทุนที่กล่าวมา สามารถให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากและลดลงมาก ขึ้นอยู่กับความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก

มาถึงตอนนี้แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านคงมีความเข้าใจมากขึ้นในระบบการนำเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลว่าในแต่ละนโยบายการลงทุนก็จะให้อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หากท่านเลือกนโยบายการลงทุนในตลาดเงินแน่นอนว่าท่านจะมีความเสี่ยงต่ำ

แต่อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับก็ต่ำมากเช่นกัน สำหรับนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ อาจมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาตราสารหนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่านโยบายการลงทุนในตราสารทุน ซึ่งมีความเสี่ยงที่เกิดจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่งในบางช่วงเวลาอาจให้ผลตอบแทนที่สูงมากแต่ในขณะเดียวกันก็อาจให้ผลขาดทุนมากได้เช่นกัน

ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นกองทุนแบบผสมโดยลงทุนในตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ 79.2% ตราสารทุนไทยและต่างประเทศ 13.5% และลงทุนหลักทรัพย์อื่นๆ 7.3%ของมูลค่ากองทุน ซึ่งได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละปี คือ ปี 2550 มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 9.22% ปี 2551 มีผลตอบแทนลดลง 5.17% และครึ่งแรกปี 2552 มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 3.78% (จาก Website ของ กบข.) โดยปี 2551 ผลตอบแทนลดลงเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงถึง 44.12%

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เฉพาะกองทุนแบบผสม ปี 2550 มีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8.57% และปี 2551 มีผลตอบแทนเฉลี่ยลดลง 1.70% จะเห็นว่าผลตอบแทนจะผันผวนน้อยกว่า เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในหุ้นสามัญในสัดส่วนที่ต่ำกว่า จึงได้รับผลกระทบจากการผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์น้อยกว่า

สรุป การนำเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนก็เหมือนกับการลงทุนของกองทุนทั่วไป ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับการเลือกนโยบายการลงทุนและการกระจายเงินลงทุนไปในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของลูกจ้าง คณะกรรมการลงทุน และบริษัทจัดการกองทุนที่จะทำงานร่วมกันในการพิจารณาเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับลักษณะและวัตถุประสงค์ของสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นๆ
ที่มา http://www.manager.co.th