ธุรกิจมาแรงปี 55 ธุรกิจเสริมสวย-ทำหล่อมาแรงปี'55

ธุรกิจมาแรงปี 55 ธุรกิจเสริมสวย-ทำหล่อมาแรงปี'55 โชห่วยดับสนิทสู้ค้าปลีกยักษ์ไม่ได้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผย 10 ธุรกิจดาวเด่น ดาวดับ ปี 2555 ชี้การแพทย์ ความงาม มาแรงสุด หลังคนใส่ใจสุขภาพ และหันทำศัลยกรรมความงามมากขึ้น ส่วนโชห่วย ดับสนิท เพราะสู้ค้าปลีกรายใหญ่ไม่ได้

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้จัดอันดับธุรกิจดาวเด่นในปี 2555 โดยการให้คะแนนใน 5 ด้าน คือ ด้านยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน (กำไรสุทธิ) ความสามารถในการรับผลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และความสอดคล้องกับกระแสนิยม รวม 50 คะแนน รวมถึงประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจ 2555 ปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยบั่นทอนในการทำธุรกิจ พบว่า มีธุรกิจดาวเด่น 10 อันดับจำนวน 12 ธุรกิจ ที่จะมีการขยายตัวเติบโตได้ดีในปี 2555

โดย 10 ธุรกิจดาวเด่น ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการทางการแพทย์ และความงาม 45.1 คะแนน เพราะคนรักสุขภาพมากขึ้น และวัยรุ่นมีกระแสรักสวยรักงาม และทำศัลยกรรมความงามมากขึ้น รวมถึงต่างชาติมองว่าการรักษาของไทยมีคุณภาพ และราคาไม่แพง 2.อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล 44 คะแนน เพราะแนวโน้มความต้องการของโลกมากขึ้น 3.ธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต 43.9 คะแนน เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในแถบอาเซียน และความต้องการใช้ในไทยมีมากขึ้น จากการก่อสร้างพนังป้องกันน้ำท่วม และซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4.สถานีบริการ จำหน่ายน้ำมัน ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี 43.8 คะแนน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ความต้องการใช้มีมากขึ้น ระดับราคาน้ำมันยังสูงอยู่ แต่ราคาแอลพีจี และเอ็นจีวีต่ำ ทำให้คนหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล 5.สถาบันการเงิน 43.5 คะแนน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อเพื่อการซ่อมแซมบ้าน และฟื้นฟูเครื่องจักรหลังน้ำลด และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีมากขึ้น

6.เทคโนโลยีสื่อสาร 43.3 คะแนน เพราะความต้องการใช้ระบบสื่อสารมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบสื่อสารใหม่ๆ มากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว การพัฒนาเครือข่ายความเร็วสูงในทุกพื้นที่ และราคาอุปกรณ์สื่อสารต่ำลง 7.ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต 43.2 คะแนน จากนโยบายหักลดหย่อนที่มีมากขึ้น และปัญหาภัยธรรมชาติที่มากขึ้นทำให้คนหันมาทำประกันภัยมากขึ้น
8.มีคะแนนเท่ากันที่ 42.7 คะแนนใน 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร จากการลงทุนใหม่ในเครื่องจักรของอุตสาหกรรมต่างๆ ภายหลังน้ำท่วม การขยายการลงทุนของภาคเอกชนในการผลิตสินค้า และภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว และธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง จากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการซ่อมแซมถนน สะพาน หลังจากน้ำลด

9.ธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทน เพราะความต้องการใช้ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันที่มีราคาทรงตัวระดับสูง และ 10.มี 2 ธุรกิจที่คะแนนเท่ากันที่ 42.4 คะแนน คือ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพราะค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และความต้องการสินค้าสูงขึ้น และธุรกิจอาหาร เพราะโลกยังต้องการอาหาร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมากขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และระดับราคาที่สูงขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับ 10 ธุรกิจดาวร่วง หรือธุรกิจที่มีโอกาสทำธุรกิจน้อย และผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับปรุงศักยภาพ ในปี 2555 ได้แก่ 1.ร้านค้าดั้งเดิม (โชห่วย) 15.9 คะแนน เพราะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ 2.ผักและผลไม้อบแห้ง 16.7 คะแนน เพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และนิยมรับประทานผัก ผลไม้สดมากขึ้น 3.หัตถกรรม (จักสาน งานไม้) 17.1 คะแนน เพราะรูปแบบล้าสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 4.เครื่องหนัง (งานไม้เน้นฝีมือ งานเครื่องหนังทั่วไป) 17.2 คะแนน มีคู่แข่งมาก กำไรน้อย โดยเฉพาะเครื่องหนังที่มีราคาต่ำถึงปานกลาง 5.เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ไม่เน้นงานฝีมือ) 18.4 คะแนน มีสินค้าราคาถูกจากจีน และประเทศเพื่อนอย่างเวียดนามเข้ามาตีตลาดมากขึ้น 6.สิ่งทอผ้าผืน (งานไม้เน้นฝีมือ ตัดเย็บทั่วไป) 18.7 คะแนน มีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดมากขึ้น

7.เหล็กและการผลิตเหล็ก 19.9 คะแนน มีปริมาณการผลิตเหลือ เพราะความต้องการใช้ในประเทศไม่มากตามภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 8.อุตสาหกรรมฟอกย้อม 20.7 คะแนน ทรุดตัวตามอุตสาหกรรมผ้าผืน 9.ธุรกิจประมง 24.1 คะแนน มีต้นทุนสูง จากราคาน้ำมันดีเซลแพง ปลาจับได้น้อย รวมถึงต้องออกไปทะเลต่างประเทศมากขึ้น และ 10.อสังหาริมทรัพย์ (บ้านแนวราบ) 24.9 คะแนน เพราะประชาชนลังเลการตัดสินใจซื้อ เพื่อรอเลือกซื้อบ้านในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม และหันมาซื้อคอนโดมีเนียมเพื่อหนีน้ำมากขึ้น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์