3 ธุรกิจมาแรงในปี55 ตอบโจทย์ยุคบริโภคนิยม

3 ธุรกิจมาแรงในปี55 ตอบโจทย์ยุคบริโภคนิยม
@จับตาเทรนด์ธุรกิจร้อน มาแรงแห่งปี 2012

@อาหารญี่ปุ่น-คอมมูนิตี้มอลล์-สินค้าสีเขียว

@เปิดฉากงัดกลยุทธ์การตลาดหนักชิงลูกค้า

@พาเหรดรายเก่า-ใหม่ กระแสตื่นตัวสิ่งแวดล้อมเข้มข้น

ประเดิมธุรกิจแรก ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ค่ายใหญ่แห่เปิดตัวลงมาชิงดำ หวังฮุบตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่ส่อเค้าว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี รวมถึงค่ายใหญ่อย่างเซ็นทรัล และใบหยก ลงประเดิมเปิดตัวร้านเป็นครั้งแรก ขณะที่ฟากของสิงห์ และอิชิตัน เตรียมขยายสาขาเพิ่ม พร้อมงัดกลยุทธ์ช่วงชิงลูกค้ากันอย่างรุนแรงในปีหน้า

ตามด้วยกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าในเซกเมนต์คอมมูนิตี้มอลล์ ที่คาดว่ายังคงแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อผู้ประกอบการหน้าเดิม และหน้าใหม่ เตรียมแห่เปิดตัว พร้อมกับที่เป็นข่าวและเตรียมดีเดย์เปิดตัวในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ เมกะ บางนา, ธัญญะ ช็อปปิ้ง พาร์ค ของกลุ่มธนิยะ และจตุจักร กรีน ของกลุ่มไฮทราฟฟิค มีเดีย

นอกจากนี้ยังมีสินค้าใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมหรือกรีนโปรดักส์ก็เป็นดาวเด่นในปีหน้าเช่นกัน เพราะมหาอุทกภัยในปีนี้ ทำให้กระแสผู้บริโภคกับการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นเป็นเท่าตัว

หน้าเก่า-รายใหม่ อาหารญี่ปุ่น
เตรียมบุกหนักเร่งขยายสาขา

สำหรับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังพุ่งแรงต่อเนื่อง รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะรูปแบบบุฟเฟต์ที่วัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นนิยมอย่างมาก เพื่อการสังสรรค์ และมีกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น เรื่องสุขภาพ และการมีกิจกรรมร่วมกัน จึงเป็นจุดประสงค์อันดับต้นๆ ที่กลุ่มเป้าหมายนิยมเลือกรับประทาน

เทรนด์การบริโภคอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย จะเป็นรสชาติเดียวกับญี่ปุ่น จากเดิมที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะเป็นอาหารที่ถูกดัดแปลงให้ถูกปากคนไทยมากที่สุด ปัจจุบันตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตในระดับ 10-15% ต่อปี

“ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปีหน้ามีทิศทางสดใส และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างแน่นอน เพราะผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ยังชื่นชอบการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นว่าผู้เล่นหน้าใหม่ และหน้าเดิม ต่างก็แอกทีฟลงมาบุกตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการช่วยปลุกกระแสตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นให้คึกคัก” รองประธานกรรมการ กลุ่มโรงแรมใบหยก ปิยะเลิศ ใบหยก กล่าว

สำหรับรูปแบบและการจัดตกแต่งร้านก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้บริโภคเข้าร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบบุฟเฟต์ ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนไทย เพราะนอกจากได้รับประทานอาหารที่สร้างความรู้สึกคุ้มค่าคุ้มราคาแล้ว ยังเป็นการทำกิจกรรมสังสรรค์ร่วมกันอีกด้วย

“คาดว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบแฟรนไชส์ จะได้รับความนิยมสูง กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพราะแฟรนไชส์สามารถนำมาต่อยอดทำตลาด ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งระบบ เพราะทั้งมาตรฐาน รสชาติอาหาร และการทำตลาดถูกวางไว้อย่างเป็นระบบเพียงนำมาต่อยอด และเพิ่มการบริการในสไตล์คนไทยที่เอาใจใส่ลูกค้า ซึ่งกลุ่มใบหยก นำร้าน “Gyu-Kaku สไตล์บาร์บีคิว ที่เพิ่งซื้อแฟรนไชส์มาก็ยึดตามแนวทางดังกล่าวเช่นกัน”

ด้านกลุ่มเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี เจ้าของแบรนด์อาหารหลากหลาย ก็เป็นหนึ่งในบรรดากลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่หันมาปรับนโยบายการทำธุรกิจ จากเดิมที่เน้นทำแบรนด์อาหารจานด่วนแนวตะวันตก โดยเฉพาะในกลุ่มสแน็ก ขนมหวาน หรือไลต์ฟู้ด ก็เปลี่ยนมาโฟกัสที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ในชื่อ โยชิโนยะ

ขณะที่ฟากของ “ตัน ภาสกรนที” เจ้าของชาเขียวอิชิตัน มองว่า จากนี้ไป 2-3 ปีจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นที่เป็นร้านเฉพาะอย่างเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการร้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น โดยร้านราเมงที่นำเข้ามา ได้แก่ “Tsujita”, “Setagaya”, “Kibi”, “Gokumiso”, “Taishoken” และ “Shodai Keisuke” ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการพบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายร้านในรูปแบบของมัลติแบรนด์นี้ออกไปอีก
ค้าปลีกคอมมูนิตี้มอลล์ฮอตข้ามปี

ห้างค้าปลีกในเซกเมนต์คอมมูนิตี้มอลล์ ยังแรงต่อเนื่องข้ามไปยังปีหน้า ค่ายเดิม-ค่ายใหม่ แห่เปิดตัวรับกระแสผู้บริโภคนิยม โดยการเกิดใหม่ของคอมมูนิตี้มอลล์ ยังคงดาหน้าเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง กระจายไปทุกพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรับกำลังซื้อคนย่านชานเมือง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุถึงแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับความนิยมต่อไปในอนาคตว่า จะต้องเป็นการลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกที่เน้นรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น อาทิ รูปแบบร้านค้าขนาดเล็กและคอมมูนิตี้มอลล์ โดยเฉพาะคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งมีกระแสค่อนข้างแรง ที่มักจะขยายตัวไปตามแหล่งชุมชนในย่านปริมณฑลที่มีหมู่บ้านและชุมชนหนาแน่น

จะเห็นว่า ปัจจุบันในยุคที่ชุมชนขยายตัว เกิดเมืองใหม่ ชุมชนใหม่ ซึ่งจะเห็นว่าทุกวันนี้เมืองถูกขยายออกไปมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดใหม่จำนวนมาก รวมถึงส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าก็ถูกขยายตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ที่สามารถเข้าไปให้บริการได้ถึงชุมชน จนมีผู้ประกอบการหน้าใหม่พร้อมโดดเข้ามาร่วมสมรภูมินี้มากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รูปแบบค้าปลีกคอมมูนิตี้มอลล์จะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อสนองตอบต่อผู้บริโภคยุคนี้นั่นเอง

“เทรนด์คอมมูนิตี้มอลล์ในอนาคต จะเน้นความเป็น Unique มากขึ้น มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่รูปแบบการจัดตกแต่งภายในศูนย์การค้าทั้งภายในและภายนอกต้องมีดีไซน์ โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น สร้างความรู้สึกถึงบรรยากาศที่มีความเป็น Unique ดึงดูดให้ลูกค้าต้องมาที่นี่เท่านั้น รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่เช่าพื้นที่ต้องมีความน่าสนใจ แตกต่างจากร้านอื่น รวมสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์เฉพาะ” ไว้ทั้งหมด ตลอดจนรูปแบบโปรโมชั่นต้องแรงและหนัก ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าคุ้มราคา ที่สามารถจับต้องได้จริง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านส่งเสริมการตลาด บริษัท พาราไดซ์พาร์ค จำกัด เหมือนฝัน ธัญไพสิษฐ์ กล่าว

วิจัยคอมมูนิตี้มอลล์บูม!

ด้านศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อศูนย์การค้าขนาดย่อม ที่เปิดขายสินค้าบริการในแหล่งชุมชน หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งส่งสัญญาณทิศทางคอมมูนิตี้มอลล์ในปีหน้าว่า ประชาชน ร้อยละ 68.7 ไปคอมมูนิตี้มอลล์เดือนละครั้งเพื่อชอปปิ้ง เดินเล่นดูสินค้า รับประทานอาหาร และเป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์

ร้อยละ 52.5 เห็นว่า เหตุผลที่เลือกไป เนื่องจากเห็นว่าอยู่ใกล้บ้าน ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม เดินทางสะดวก นอกจากนี้ พบด้วยว่า คอมมูนิตี้มอลล์ ไม่ได้มีภาพลักษณ์ในเรื่องของการชอปปิ้งที่โดดเด่นเหนือห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าแฟชั่น นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของการใช้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และรับประทานอาหาร

นักชอปส่วนใหญ่ที่เดินทางมาคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 53.4 และร้อยละ 46.6 เป็นผู้ชาย อายุ 18-24 ปี มีร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่เดินทางมาคอมมูนิตี้มอลล์ ส่วนอายุ 34-39 ปี มีร้อยละ 18.6 และร้อยละ 33.3 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่มาคอมมูนิตี้มอลล์มีมากถึงร้อยละ 63.7

“สินค้า” สู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มปีหน้าดูเหมือนว่า สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง รับกระแสมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายในเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า จากสิ่งดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเลือกซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญและเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ

ผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ Global Warming เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่ย้อนไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ไม่มีต้นไม้ชะลอการไหลของน้ำ ปัญหาของภาวะโลกร้อนที่ทำให้แต่ละปีมีน้ำเก็บกักมาก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้ประกอบการใส่ใจการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“แนวโน้มในปีหน้า ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าจะเน้นสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย โดย บริษัทมีความมุ่งมั่นให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด ใช้ไม้ยางพารามาผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการออกแบบนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Eco Products เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านให้มากที่สุด ภาพรวมของแนวคิดในการผลิตมีการมองให้ตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่ Resources, Materials/Parts, Design, Production, Transport, Use/Repair, End of Life” ประธานกรรมการ บริษัท แปลน ครีเอชั่น จำกัด วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ กล่าว

สินค้าสู่พลวัตแห่ง “Green+Eco Product”

นักการตลาด และนักสร้างแบรนด์ อย่าง ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Brandbeing Consultant จำกัด เห็นว่า Green Product หรือ Eco Product ไม่ใช่เรื่องกระแส แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ ทั้งเจ้าของธุรกิจ และผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะเห็นว่าปีหน้านี้ เรื่องการตลาดสีเขียว หรือกรีน มาร์เกตติ้ง จะถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยปราศจากการบีบบังคับ แต่ผู้ประกอบธุรกิจยุคใหม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เน้นการแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว (Make Profit)

แนวโน้มของผู้ประกอบธุรกิจต่อจากนี้ จะนำเรื่องของ Green Product หรือ Eco Product มาใช้ในผลิตภัณฑ์มากขึ้น รูปแบบการทำตลาดสีเขียวก็จะถูกนำมาเกี่ยวพัน โดยจะไม่ใช่ทำการตลาดเพื่อกระแสนิยม หรือที่เรียกว่า Green Washing แต่จะทำบนฐานแห่งความยั่งยืน แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่จำนวนน้อย แต่เชื่อว่าจะมีคนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ด้านผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน เริ่มหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เวลาเลือกซื้อสินค้าก็จะพิจารณาองค์ประกอบเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง Eco Products ก่อนการตัดสินใจซื้อ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่นี้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องนี้ยังน้อย และไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เชื่อว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน อย่าลืมว่าผู้บริโภคยุคใหม่รู้จักบริโภคอย่างชาญฉลาด
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์