ลงทุนตราสารหนี้...เพราะไม่ถูกโฉลกกับหุ้น


“อริยา ติรณะประกิจ” ลงทุนตราสารหนี้...เพราะไม่ถูกโฉลกกับหุ้น
ตอนนี้พยายามบอกตัวเองว่าอย่าไปอ่อนไหวกับความผันผวนในระหว่างทางที่ลงทุน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแมงเม่าตัวหนึ่งเท่านั้นเอง

"ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ถูกต้อง” คำกล่าวนี้คงไม่ต่างอะไรกับเส้นทางสายการลงทุนของ “อริยา ติรณะประกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ที่หลังจากมั่นใจว่า “หุ้น” ไม่น่าจะใช่การลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง เธอก็ขยับมาหา “ตราสารหนี้” ที่ใช่ พร้อมปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนในหุ้นที่เหลืออยู่ ให้เหมาะกับบุคลิกของตัวเองไปด้วยในตัว

อริยา บอกว่า ปกติเป็นคนอนุรักษนิยมไม่ค่อยชอบความเสี่ยงเท่าไรนักบุคลิกค่อนข้างจะเหมาะกับการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า ซึ่งปัจจุบันพอร์ต การลงทุนประมาณ 70 - 75% ก็จะลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก โดยมีหุ้นประมาณ 20% และทองคำอีกประมาณ 5 - 10% แต่ถ้าย้อนไปช่วงที่อายุน้อยๆ ช่วงที่เริ่มต้นทำงาน ก็จะมีการลงทุนในหุ้นมากหน่อยประมาณ 50% แต่ช่วงนั้นเงินลงทุนก็น้อยด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังกำไรจากหุ้นสมัยที่ใครๆ ก็เล่นหุ้นกัน จนมาเจอวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ทุกคนเจ็บตัวหมด รู้สึกเหมือนดวงตัวเองไม่ค่อยถูกกับหุ้น เวลาซื้อหุ้นตัวไหนก็มักจะลง เวลาขายหุ้นตัวไหนก็มักจะขึ้น

ในอดีตก็เคยมีประสบการณ์กับหุ้นมีข่าวเช่นกัน เคยเล่นหุ้นตามข่าว ผลปรากฏว่าขาดทุนมากกว่ากำไรเรียกว่าเหนื่อยฟรี หากจะลงทุนตามข่าว เพราะขาดทุนมากกว่ากำไร เพราะการจับจังหวะตลาด (Market Timing) ก็ไม่ดี แล้วตัดสินใจในบางครั้งก็ตามอารมณ์ตลาดมากไปหน่อย ทำให้ผลตอบแทนโดยภาพรวมเมื่อคำนวณออกมาไม่ค่อยดีนัก คิดว่าตัวเองอยู่เฉยๆ ไม่ลงทุนในหุ้นแล้วลงทุนในตราสารหนี้ยังได้ผลตอบแทนมากกว่าอีก จึงเริ่มรู้สึกแล้วว่าตัวเองคงไม่เหมาะกับการลงทุนในหุ้นเท่าไรนัก

เดิมเคยคิดว่าจะเซ็ทกำไรไว้ทุก 15% จะขาย แต่จริงๆ แล้วทำไม่ได้ อาจเพราะตัวเองไม่มีวินัยพอก็ได้ เวลาเห็นราคาหุ้นขึ้นก็อยากจะได้อีกเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน แล้วนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะสุดท้ายก็โลภมากอยากจะได้เพิ่มเรื่อยๆ ก็ปล่อยต่อไปเรื่อยๆ เลยใช้ไม่ได้ผล สุดท้ายจึงเปลี่ยนสไตล์การลงทุนโดยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาจนเหลือประมาณ 20% ในนี้รวมกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อยู่ด้วย

“แม้ปัจจุบันจะพยายามมองภาพการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ในระหว่างทางราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ปล่อยไปถือว่าลงทุนเอาปันผลในระยะยาว แต่ต้องยอมรับว่าเวลาเจอหุ้นตกหนักๆ เราก็อดตื่นตระหนก (Panic) ไม่ได้อยู่ดี อย่างวิกฤติการเงินครั้งล่าสุด เวลาที่เจอหุ้นลงเยอะๆ เราก็ขายลดความเสี่ยงไปด้วยส่วนหนึ่งซึ่งแน่นอนก็ทำให้ขาดทุนไปพอสมควร ในกองทุนหุ้นที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) เองก็ตัดใจขาย ขอขาดทุน 50% ดีกว่าไม่เหลืออะไร และจนปัจจุบันก็ยังไม่กลับไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศอีกเลย”

อริยา ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันตราสารหนี้ที่ลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมโดยมีทั้งอายุสั้น-กลาง-ยาวผสมกันไป ประมาณ 60% เป็นพันธบัตรรัฐบาล แต่ก็มีหุ้นกู้ผสมเข้าไปด้วยเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน และมีการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศด้วยประมาณ 25% เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น

โดยเป้าหมายของการลงทุนในตอนนี้เป็นไปเพื่อดูแลเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเองเป็นหลัก ในช่วงที่อายุยังน้อยเป็นคนที่ไม่ค่อยซื้อประกันคิดว่าตัวเองไปลงทุนเองน่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่า แต่ตอนหลังๆ คิดว่าตัวเองอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะตอนอายุน้อยๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเจ็บป่วย แต่พออายุเริ่มมากขึ้นความเจ็บป่วยก็เริ่มมาหา โรคบางอย่างปัจจุบันก็ซื้อประกันไม่ทันแล้ว เพราะเขาไม่รับทำ โดยทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ก็มีประกันสุขภาพให้พนักงานเช่นกัน แต่เราก็ต้องมองหาประกันสุขภาพส่วนตัวเพิ่มเติมด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปัจจุบันค่อนข้างแพงและนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลงทุนในตราสารหนี้ค่อนข้างมาก แม้ว่า

ผลตอบแทนจะน้อยก็จริงแต่ได้แน่ๆ ไม่ต้องลุ้น เวลาที่เราเจ็บป่วยต้องการใช้เงินก็สามารถที่จะหมุนออกมาได้ทันที

“สำหรับคนทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามการลงทุน คิดว่าการให้มืออาชีพบริหารก็มีข้อดี แต่ว่าเราเองก็ต้องทำใจยอมรับด้วยเหมือนกันว่า ผลตอบแทนของมืออาชีพมักจะเป็นไปตามภาวะตลาดเช่นเดียวกัน คือเมื่อตลาดลงก็ลงด้วย เมื่อตลาดขึ้นก็ขึ้นด้วย จึงแบ่งเงินประมาณ 50% ลงทุนเองแล้วอีก 50% ให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารให้แทน โดยจะมีการรีวิวการลงทุนของตัวเองปีละครั้ง จะมองภาพการลงทุนที่ยาวขึ้น ว่า จะซื้อหรือขายในเทอมของปีแล้ว ตอนนี้พยายามบอกตัวเองว่าอย่าไปอ่อนไหวกับความผันผวนในระหว่างทางที่ลงทุน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแมงเม่าตัวหนึ่งเท่านั้นเอง”

ส่วนตัวอริยาเองเลือกลงทุนใน บลจ. โดยดูจากจริยธรรมความน่าเชื่อถือของตัวผู้บริหาร ประกอบกับผลการดำเนินงานในอดีตด้วย เรียกว่าขอความสบายใจในการลงทุนจากจุดนี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา http://money.impaqmsn.com/content.aspx?id=23572&ch=244

คลังบทความของบล็อก