ทำเงินบนโลกไอที (49) - Joomla! เล็กรวยได้ ใหญ่รวยดี

ทำเงินบนโลกไอที (49) - Joomla! เล็กรวยได้ ใหญ่รวยดี มาร่วมกันเปิดโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับ Joomla! CMS ชุดโปรแกรมสำหรับการสร้างระบบหลังบ้านให้เว็บไซต์ที่ธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วโลกสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้สำเร็จมาแล้ว บนค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบบที่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์การใช้งานแสนแพง

***ใครว่า Open Source CMS ทำได้แค่เว็บเล็กๆ มาดู Joomla! CMS สิทำได้มากกว่าที่คุณคิด
(โดย อัครวุฒิ ตำราเรียง ประธานกรรมการบริษัท มาร์เวลิค เอ็นจิ้น จำกัด/ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ JoomlaCorner.com)

Open Source CMS ในมุมมองของบางคนหรือบางบริษัทในเมืองไทย ยังมีความคิดว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงในเชิงธุรกิจ บางคนบอกว่ามันไม่ปลอดภัย บางคนบอกว่าไม่สามารถรองรับคนใช้จำนวนมากๆได้ หรือบางคนบอกว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ได้ เพราะมีข้อจำกัดต่างๆนาๆ

แต่ขณะนี้ บริษัทอย่าง Tesco , eBay , McDonald , PizzaHut ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่างเลือกใช้ Joomla! ในการทำเว็บไซต์ โดยเทสโก้ บริษัทยักษ์ใหญ่ในอังกฤษได้เลือกใช้ Joomla! เป็นเว็บ eLearning สำหรับพนักงานมากกว่า 400,000 คน ภายใต้เว็บไซต์ TestcoAcaemy.com

ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของการมีเว็บไซต์เพื่อเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือธุรกิจของตนเองให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นช่องทางในการขายสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างเว็บไซต์นั้นปัจจุบันมีมากมายให้ได้เลือกใช้ ทั้งเว็บไซต์สำเร็จรูป ร้านค้าออนไลน์ หรือใช้ซอฟต์แวร์ประเภทที่เรียกกว่า Content Management System หรือ CMS ซึ่งมีทั้งซอฟต์แวร์ที่ขายเป็นไลน์เซนส์การใช้งาน และที่เป็นซอฟต์แวร์เปิดเผยรหัส (โอเพนซอร์ส)

ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างถึง การนำโอเพนซอร์สที่ชื่อ Joomla! มาใช้ในการสร้างเว็บไซต์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการเพิ่มยอดขายให้กับองค์กร ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของตน โดยเฉพาะการใช้ร้านค้าสำเร็จรูป ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ได้ครบถ้วนนัก แต่ Joomla! เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ได้รับความนิยม 2.5% ของเว็บไซต์ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยเว็บไซต์ส่วนบุคคล ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่

โดย Joomla! สามารถรองรับการนำไปพัฒนาเป็น Webbase Application ต่างๆ Joomla! ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2005 การพัฒนาและบริหารโครงการทำโดยคอมมูนิตี้จากทั่วโลก มีการดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วมากกว่า 19 ล้านครั้ง มี Extensions เสริมมากกว่า 6,000 Extensions (http://extensions.joomla.org)

ในส่วนของรูปแบบการนำ Joomla! มาสร้างเว็บไซต์เพื่อเพิ่มช่องทางขายนั้นทำได้หลากหลาย ในทุกๆ ธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ก็นำเสนอเมนูอาหาร รวมถึงสามารถให้มีการจองโต๊ะล่วงหน้าได้

รวมทั้ง Mcdonald Arabia แมคโดนัลในกลุ่มประเทศอาหรับที่ใช้ Joomla! ในการพัฒนาเว็บไซต์ ให้ข้อมูลเมนูอาหาร ของสะสม รวมถึงสถานที่ตั้งของสาขาต่างๆ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

IKEA ประเทศซาอุดิอาระเบีย http://www.ikea.com.sa ใช้ Joomla! ขับเคลื่อนเว็บไซต์ 2 ภาษา คือ อาหรับและอังกฤษ รวมถึงใช้ extensions ที่ใช้สำหรับเป็น shopping cart ในการสั่งซื้อสินค้า IKEA Store เป็นร้านขายอุปกรณ์ตบแต่งบ้านคล้ายๆ โฮมโปร ในบ้านเรา

Suwannin Place : ธุรกิจให้บริการเช่าห้องพัก ได้ใช้ Joomla! และ Extensions สำหรับบริหารจัดการโรงแรม ในการรับจองห้อง รวมถึงตัดชำระผ่านบัตรเครดิต

หน่วยงาน SOCA ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานเหมือน FBI หรือ DSI ในบ้านเราก็เลือกใช้ Joomla! ในการพัฒนาเว็บไซต์

หรือแม้กระทั่ง eBay ก็เลือกใช้ Joomla! เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาพอทัลสำหรับพนักงาน 16,400 คน รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ที่ http://www.ebayinc.com/content/press_release/ebay_selects_joomla_open_source_to_foste

ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นของหน่วยงานที่ได้นำ Joomla! ไปใช้พัฒนาเว็บไซต์ สำหรับท่านที่สนใจในส่วนของ extensions เสริมของ Joomla! ที่ใช้สำหรับร้านค้านั้น Joomla! มีมากมายให้ท่านได้เลือกใช้ ตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงระดับบริหารจัดการร้านค้าแบบเบ็ดเสร็จในตัว สำหรับ extensions ที่ได้รับความนิยมนำมาใช้กันมากในปัจจุบัน ก็ได้แก่

VirtueMart (http://virtuemart.net ) ซึ่งในบ้านเราก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากมีทีมพัฒนาภาษาไทย (http://joomlacorner.com) และได้ออกแพคเกจชื่อ Joomla! LaiThai eCommerce Edition (http://www.joomlacorner.com/jcornernews/315-laithai-e-commerce-edition-vm-114-joomla-1515.html) ซึ่งเป็นการรวมการติดตั้ง Joomla! และ VirtueMart เข้าด้วยกัน ทำให้สะดวกในการติดตั้งมากขึ้น

นอกจาก VirtueMart แล้วก็ยังมี TienDa ซึ่งเป็น eCommerce Extensions ตัวใหม่ ที่น่าจัดตามอง ซึ่งผู้พัฒนาเองได้เดินทางมาบรรยายเกี่ยวกับ TienDa ให้กับกลุ่มผู้ใช้ในเอเซียในงาน JoomlaDay Bangkok 2010 เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสามารถดาวน์โหลดสไลด์ได้ที่เว็บไซต์ http://www.joomladay.in.th

VirtueMart และ TienDa เป็นเพียงตัวอย่างของ Extensions ที่ใช้ในการสร้างร้านค้าออนไซต์แบบเบ็ดเสร็จในเว็บของตนเอง ซึ่งนอกจากที่จะเป็น Extensions ประเภทนี้แล้ว ก็ยังมี Extensions ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Adsense หรือการเชื่อมกับระบบ eCommerce ภายนอกอื่นๆ เช่นเชื่อมต่อกับ Magento , osCommerce ฯลฯ

นอกจากการเปิดเว็บไซต์ขายสินค้าของตนเองแล้ว สำหรับท่านที่ไม่มีสินค้าของตนเองท่านก็ยังสามารถเปิดเว็บไซต์ หารายได้จากการทำ Affiliate ซึ่งใน Joomla! ก็มี Plugin เสริมหลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการสร้างรายได้จากผู้พัฒนา Extensions สำหรับ Joomla! ซึ่งจะเรียกว่า Joomla! Affiliates Program ที่ผู้ร่วมโครงการจะได้ค่าคอมมิชชั่นจากการโฆษณาในลักษณะของ Referral ตัวอย่างของผู้ให้บริการที่เปิดให้ทำในลักษณะ Affiliates เช่น

•RocketTheme เว็บขายเทมเพลตสำหรับ Joomla! จ่ายให้ 20% เมื่อมีผู้สมัครสมาชิก
•iJoomla จ่ายให้ 20% , สะสมอย่างน้อย $9 USD จึงจะโอนเงินได้
•Alledia - 10% สะสมอย่างน้อย $5 USD จึงจะโอนเงินได้
•JoomlArt - 20% สะสม $100USD จึงจะโอนเงินได้
•Sharp 5 - 20% สะสม $100USD จึงจะโอนเงินได้
•BuyHttp - 25% สะสม $100USD จึงจะโอนเงินได้

ในประเทศไทย Joomla! ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 1 เมื่อดูจาก Google Trends เนื่องจากในประเทศไทยมี Community ที่แข็งแกร่งในการให้บริการ ให้ความรู้ ได้แก่ JoomlaCorner.com, เว็บไซต์ Joomla User Group ประเทศไทย Joomla.or.th มีการจัดงาน JoomlaDay ประจำปีและมีผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี รวมถึงมีบริษัทที่เชี่ยวชาญให้บริการในเชิงธุรกิจครบวงจร ให้บริการตั้งแต่การฝึกอบรม ไปจนถึงการรับพัฒนา Extensions เสริมเพื่อให้เหมาะกับลักษณะงานประเภทต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบให้ Joomla! ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

อะไรทำให้คนส่วนใหญ่เลือกใช้จูมล่า

1. ใช้ง่าย - Joomla มีการออกแบบ UI หรือส่วนของการติดต่อกับผู้ใช้งานที่เข้าใจง่าย มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน จะไม่ได้กำหนดตายตัว เช่นชื่อเมนู สามมารถเปลี่ยนเองได้ ปรับลำดับเองได้ กำหนดการแสดงผลข้อมูลต่างๆ เองโดยไม่ต้องแก้ไข Code

2. ทรงพลัง - Joomla! มีระบบที่รองรับ จำนวนผู้ใช้ และรองรับ Cache Server เช่น Eaccelerator, Memcache, Xcache, APC Joomla!

สามารถใช้ได้ทั้งกับ Server ที่ใช้ linux OS และ Windows OS
ใช้ ภาษาPHP
ใช้ฐานข้มูล MySQL

3. รองรับ SEO (Search Engine Optimization) - Joomla! ออกแบบมาให้ รองรับ SEO (Search Engine Optimization) เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้ Search Engine ในการค้นหาข้อมูล แทนที่จะต้องพิมพ์ URL (Uniform Resource Locator) ก็ใช้ Keyword (คำค้น) ป้อนลงไปใน Search Engine Box ต่างๆ ก็จะค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ซึ่งเว็บที่พัฒนา หรือปรับแต่งให้ รองรับ SEO ก็ย่อมได้เปรียบ ซึ่ง Joomla! เอง ก็มีความสามารถนั้น

4. ลิขสิทธิ์ เป็น Opensource GNU/GPL - ผู้พัฒนาสามารถนำ Source Code ของ Joomla! ไปใช้งาน แก้ไข ดัดแปลง แจก ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงจะไม่นิยมแก้ไข Source Code ของ Joomla! แต่จะเขียน ระบบเสริมขึ้นมาหากมีความต้องการบางอย่างที่ไม่มีในตัว Joomla! ซึ่งตอนนี้เองมีคนทำออกมามากกกว่า 6,000 Extensions (http://extensions.joomla.org)

5. Free (ถ้าลงมือทำเอง) - แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในตัว Software Joomla! นั้นไม่มี สามารถ แก้ไข ดัดแปลง แจก ได้ แต่หากคุณต้องเรียนรู้การใช้งานนั้นเอง หากคุณต้องการประหยัดเวลาในการเรียนรู้ ด้วยตัวเองก็ต้องไปเรียนกับผู้เชี่ยวชาญ หรือหากคุณต้องการใช้งานแต่ไม่อยากลงมือทำเอง ก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาทำให้

ยินดีต้องรับสู่โลกแห่งความ“FREE" ซึ่งในความหมายของ OpenSource คือ Freedom อิสระในการใช้งานครับ
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก