"ชนัดดา อติเศรษฐ์"ไม่สำคัญว่าหาได้เท่าไร...แต่จะออมเงินอย่างไร

"ชนัดดา อติเศรษฐ์"ไม่สำคัญว่าหาได้เท่าไร...แต่จะออมเงินอย่างไร
ยิ่งตัวเองต้องวางระบบการเงินของธุรกิจด้วยแล้ว ต้องมีความรอบคอบรัดกุม จะลงทุนทุกอย่างด้วยความเสี่ยงไม่ได้ จะมุ่งเน้นการ ประหยัด อดออม ไม่มั่วสุมอบายมุข เรียกว่าไม่สำคัญว่า เราจะหามาได้มากเท่าไร แต่เรารู้จักว่าเราจะออมเงินอย่างไร

ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่แม้อายุเพิ่ง 30 ต้นๆ แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานและครอบครัวทำให้ "ชนัดดา อติเศรษฐ์ " Chief Financial โรงแรม The Shore at Katathani กลับเปลี่ยนแปลงชีวิตจากคนที่ชอบแฟชั่น เข้าสังคม ก็หันมาลดบทบาทกิจกรรมสังคมน้อยลงเพื่อครอบครัวและลูกๆ ถึง 2 คน และเธอยังเป็นคนที่เชื่อมั่นในการวางแผนทางการเงิน ว่ามีบทบาทสะท้อนถึงความเป็นอยู่ในอนาคต โดยถ้าเราอยากให้อนาคตเป็นอย่างไรเราต้องเป็นผู้วางเป้าหมายเอง

ชนัดดามีข้อคิดในเรื่องเงินๆ ทองๆ ว่า "ไม่สำคัญว่าเราจะหามามากเท่าไร แต่สำคัญ ที่เรารู้จักว่าจะออมเงินอย่างไร" และ "ใช้จ่ายอย่างพอเพียง รู้จักตัวเอง ไม่เกินตัว" รวมถึง "ช้าแต่ชัวร์"

เธอบอกถึงวิธีการวางแผนการเงิน ว่าปัจจุบันพอมีครอบครัว มีลูก จึงมองความเหมาะสมและเหตุผลเป็นหลัก ระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับเมื่อสมัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ก็อาจจะมีสังคมบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ใช้เงินฟุ้งเฟ้อ เรียกว่า วิธีคิดการใช้เงินคือจะไม่ใช้จ่ายเกินตัว จะมีการวางแผนในการใช้เงินก่อนทุกครั้ง ยิ่งมีครอบครัวยิ่งต้องระวังมากขึ้น อยากให้อนาคตที่ดีกับลูกๆ

" ปัจจุบันนี้เลยมีการวางแผนแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเอง 5% ถือว่าน้อยมาก เพราะอยู่ที่ภูเก็ตเองก็ไม่ต้องแต่งตัวอะไรมากมาย ที่เหลือก็จัดสรรให้กับอนาคตของลูก 30% ค่าใช้จ่ายในทุกๆ อย่าง 30% และที่เหลือเป็นการออมเงินเพื่อครอบครัว แอนจะยึดหลักความพอเพียงในการใช้ชีวิต คือรู้จักตัวเอง ไม่ต้องหลงไม่ต้องเกินตัว ยิ่งพื้นฐานการใช้เงินหากเรามีการปลูกฝังตั้งแต่ยังวัยรุ่น ก็จะได้รับผลดี ควรเริ่มก่อน เพราะเด็กไทยปัจจุบันได้เงินง่าย เลยไม่รู้จักคุณค่าของเงินเท่าไหร่นัก อย่างเมืองนอก เด็กๆ ต้องมีการวางแผนการเรียนด้วยตัวเอง รู้จักการลงทุนให้กับตัวเอง เรียกว่าตั้งแต่อายุเริ่มต้น 20 ปี ไปจนถึงเกษียณ อายุ 60 ปี มีการวางแผนชีวิตตลอด จนถึงบั้นปลายชีวิต ข้อสำคัญต้องคิดให้เป็น และเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดให้กับการวางแผนการเงินและการออมเงิน "

ชนัดดาเชื่อว่าหากทุกคนได้มีการทำบัญชีครัวเรือนหรือบัญชีส่วนตัว จะทำให้มีความสมดุลในการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ใช้เงินในอนาคตหรือการใช้เงินเกินตัว อย่างบัตรเครดิตถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ใช้เกินขอบเขต และจะมีการวางแผนการจ่ายเงินตามที่เรากำหนดใช้

ย้อนกลับมาถึงการลงทุนของเธอเอง ชนัดดาถือว่าเป็นคนที่มีคติประจำใจให้กับตัวเองเสมอในการลงทุน คือไม่รีบร้อน ช้าแต่ชัวร์ ไม่เน้นความเสี่ยง เป็นคนที่วางระบบให้กับตัวเองพอสมควร การทำอะไรก็ตามจะเน้นความถูกต้อง ไม่เน้นผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงสูง เมื่อจะลงทุนอะไรแล้วมองถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก

"ยิ่งตัวเองต้องวางระบบการเงินของธุรกิจด้วยแล้ว ต้องมีความรอบคอบรัดกุม จะลงทุนทุกอย่างด้วยความเสี่ยงไม่ได้ และในวัฒนธรรมองค์กรของพนักงานในเครือของโรงแรมกะตะธานีเอง เราจะมุ่งเน้นการ ประหยัด , อดออม , ไม่มั่วสุมอบายมุข เรียกว่าไม่สำคัญว่า เราจะหามาได้มากเท่าไหร่ แต่เรารู้จักว่าเราจะออมเงินอย่างไร จะทำให้ชีวิตดีขึ้น "

ปัจจุบันนี้เธอบอกว่าเห็นโฆษณาประกันชีวิต มีการโฆษณามากขึ้น ถือว่าเป็นมุมมองที่ดี สะท้อนให้คนรู้จักการวางแผนชีวิตกันมากขึ้น เธอเองและครอบครัวจึงใส่ใจกับการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพราะถือเป็นการป้องกันอนาคตในการใช้ชีวิตได้

นอกจากนั้น ในแง่ของการลงทุนก็ยังมีส่วนของการลงทุนในที่ดิน และการซื้อกองทุนประหยัดภาษีทั้งกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ค่อยสนใจมากนัก

" ทุกวันนี้โดยส่วนตัวก็จะมีการแบ่งบัญชีเป็น 2 ฉบับ คือ บัญชีค่าใช้จ่าย และบัญชีเงินออม ซึ่งบัญชีที่ใช้ออมเราจะไม่เข้าไปแตะต้อง คือเป็นการออมเงินเพื่ออนาคตจริงๆ เป็นการจัดสรรการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าเรารู้จักพอเพียง ไม่ใช้เงินเกินตัวชีวิตเราก็จะมีความสุขจนบั้นปลายชีวิตแบบไม่เดือดร้อน มีความสุขบนความพอดี"

เธอทิ้งท้ายด้วยการแชร์ประสบการณ์ความผิดพลาดในเรื่องเงินทองๆ ว่าแม้จะเป็นคนที่ระวังเรื่องการใช้เงินมาตลอด ในสมัยเด็กๆ อาจจะมีสังสรรค์บ้าง ชอปปิงบ้าง แต่ก็อยู่ในขอบเขต ด้วยความที่อาจจะถูกปลูกฝังจากครอบครัว รวมถึงไม่ชอบใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง ตรงจุดนี้เลยทำให้ระวังตัวเหมือนกัน อาจจะมีประสบการณ์ผิดพลาดเล็กๆ ตอนสมัยเรียน ที่มีโอกาสได้เข้าไปลองสะสมเงินยูโรตอนนั้นอยากลอง แต่ไม่ได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นเศรษฐกิจตลาดโลกไม่ดี เลยทำให้ขาดทุน ก็ถือเป็นประสบการณ์ชั้นดี ทำให้เราลดบทบาทในความเสี่ยงลง หากเราไม่มีประสบการณ์ หรือไม่มีความรู้ในด้านนั้นๆ ทั้งหมดนี้ คือ ความเห็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่แง่คิดคมๆ อยู่ไม่น้อย
ที่มา money.impaqmsn

คลังบทความของบล็อก