“เฟซบุ๊ก” เปิดสงครามสื่อสังคมชิงบัลลังก์ “กูเกิล”

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊กวัย 26 ปี
เอเอฟพี - ด้วยการนำเสนอรูปแบบที่แตกต่างในการใช้ชีวิต, ทำงาน, เล่น และค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ ทำให้ “เฟซบุ๊ก” กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเสิร์ชเอ็นจินรายใหญ่อย่าง “กูเกิล”
ขณะที่กูเกิลจะแสดงผลการค้นหาตามประวัติการใช้งานเว็บไซต์ เฟซบุ๊กให้ความเฉพาะเจาะจงมากกว่าโดยอาศัย “ความชอบ” (likes) ของผู้ใช้ และบริการแนะนำเพื่อน

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนขณะยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปัจจุบันมีทรัพย์สินมากถึง 6,900 ล้านดอลลาร์ เรียกเฟซบุ๊กว่า “กราฟทางสังคม”

“สิ่งที่เราพบก็คือ เมื่อคุณสามารถใช้ผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งร่วมกับเพื่อนๆ, ครอบครัว และคนที่คุณรัก พวกเขาก็จะอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น” ซัคเกอร์เบิร์กให้สัมภาษณ์กับรายการ “ซิกซ์ตี้ มินิทส์” ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส

“กราฟทางสังคมนี้กว้างมากอย่างไม่น่าเชื่อ” ลู เคอร์เนอร์ นักวิเคราะห์สื่อสังคมจาก เว็ดบุช ซีเคียวริตี หยิบยกคำศัพท์ที่ซัคเกอร์เบิร์กเลือกใช้ พร้อมอธิบายว่า “มันไม่ใช่แค่ว่าคุณทำอะไรและชอบอะไร แต่ยังหมายถึงคนที่คุณรู้จัก สิ่งที่พวกเขาชอบ และบริษัทที่คุณกำลังติดต่ออีกด้วย”

ในมุมมองของผู้สังเกตการณ์โลกอินเทอร์เน็ตอย่าง เคอร์เนอร์ เฟซบุ๊กได้สร้างเครือข่ายคู่ขนานที่มีผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก

“ผมขอเรียกเฟซบุ๊กว่าอินเทอร์เน็ตแบบที่สอง ซึ่งอาจจะมีคุณค่ามากกว่าแบบแรกด้วยซ้ำ เพราะเราต่างเชื่อมโยงเข้าด้วยกันหมด” เคอร์เนอร์ให้สัมภาษณ์

บริษัทติดตามการใช้งานออนไลน์ คอมสกอร์ ระบุว่า กูเกิ้ลมีจำนวนผู้ใช้ต่อเดือนมากกว่าเฟซบุ๊ก แต่ผู้เล่นเฟซบุ๊กจะใช้เวลาอยู่กับมันมากกว่าบริการของกูเกิล

ตั้งแต่ต้นปี 2010 เป็นต้นมา เฟซบุ๊กได้ออกบริการใหม่ๆ ขึ้นมาชนกับกูเกิลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล @facebook.com ที่กลายเป็นคู่แข่งของ “จีเมล” หรือ “เฟซบุ๊ก เควสชันส์” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ถามคำถาม โดยมีสมาชิกเฟซบุ๊กคนอื่นๆ เข้ามาตอบ

เฟซบุ๊กยังแข่งขันกับกูเกิลในการจ้างบุคลากร ซึ่งส่งผลให้สำนักงานใหญ่ของกูเกิลที่เมาน์เทนวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องประกาศขึ้นเงินเดือนพนักงานทุกตำแหน่งอีก 10 เปอร์เซ็นต์

“เฟซบุ๊กสามารถแข่งขันได้ในหลายๆ ด้านก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเติบโตบนความตกต่ำของกูเกิล และไม่ใช่ว่าเฟซบุ๊กเติบโตขึ้น ส่วนกูเกิลย่ำแย่ลง” แดนนี ซัลลิแวน บรรณาธิการประจำบล็อกเทคโนโลยีของเสิร์ชเอ็นจินแลนด์ ดอตคอม ระบุ

เคอร์เนอร์กล่าวว่า “กูเกิลจะไม่หายไปไหนหรอกครับ ที่จริงแล้วผมคิดว่ากูเกิลน่าจะได้ประโยชน์จากสื่อสังคมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะสื่อสังคมทำให้คนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น และเมื่อเขาใช้เวลามากขึ้น พวกเขาก็จะค้นข้อมูลมากขึ้นด้วย”

“แต่จุดที่พวกเขากำลังสู้กันจริงๆ คือพื้นที่โฆษณา เฟซบุ๊กมีผู้ซื้อพื้นที่โฆษณาจำนวนมาก ส่วนกูเกิลต้องขายโฆษณาให้ได้มากกว่านี้” ซัลลิแวน กล่าว

ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2010 ยอมรับกับซีบีเอส ว่า “มีหลายเรื่องที่บริษัทต่างๆ ต้องแข่งขันกัน แต่ก็ยังมีสิ่งเหล่านี้ที่เราไม่ต้องแข่งกับใครเลย”

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก