สอนลูกบริหารเงิน ก่อน"เงินเกษียณ"ของพ่อแม่สูญ

เมื่อกล่าวถึง "เงินเก็บก้อนสุดท้าย" ในชีวิตของคนเป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้ร่ำรวย หรือมีกิจการใหญ่โตล้นฟ้าแล้ว อาจเป็นเงินที่ได้จากการเกษียณ หรือเงินออมที่มากับกรมธรรม์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเงินก้อนนี้ แม้พ่อแม่จะมีความจำเป็นต้องเก็บเอาไว้ใช้ในยามชรา เช่น เอาไว้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง และค่าจิปาถะอื่น ๆ อีกมากมาย แม้วันที่ได้รับมาจะเห็นเป็นก้อนใหญ่ แต่เมื่อนานวันไป มันก็มีแต่ร่อยหรอลง

ที่สำคัญ แม้มันจะเป็นเงินที่จำเป็นต่อชีวิตในวัยชราของพ่อแม่สักเท่าใด แต่หากลูกเอ่ยปากขอยืม เชื่อว่ามีพ่อแม่จำนวนมากพร้อมที่จะหยิบยื่นให้อย่างไม่ลังเล

ดังนั้นจึงมีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย กับลูกที่แบมือขอเงินที่พ่อแม่เก็บออมมาชั่วชีวิตไปถลุงจนหมด จนทำให้ชีวิตพ่อแม่ต้องตกระกำลำบาก โดยที่ตัวลูกเองก็ไม่สามารถหาเงินมาชดใช้ หรือเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชราได้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าเช่นนี้ ทีมงานมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงเอาไว้เตรียมตัวลูก ๆ ให้สามารถเอาตัวรอดทางการเงินได้ โดยไม่ต้องมาหวังพึ่ง "เงินก้อนสุดท้าย" ในชีวิตของพ่อแม่กันค่ะ

1. ตั้งเป้าหมายในการให้การสนับสนุนลูก ๆ ด้านการศึกษา

พ่อแม่ทุกคนล้วนมีแผนการออมเงินสำหรับการศึกษาของลูกในอนาคตอยู่แล้ว แต่ควรตั้งเป้าชัดเจนว่าจะสนับสนุนลูก ๆ ไปจนถึงระดับใด ซึ่งปกติคือระดับมหาวิทยาลัย ที่ไม่ควรลืมก็คือ ต้องบอกให้ลูกทราบด้วยว่าคุณจะสนับสนุนเขาไปจนถึงจุดนี้เท่านั้น เมื่อลูกสำเร็จการศึกษาในระดับที่ตั้งเป้าเอาไว้แล้ว หากลูกมีแผนจะศึกษาต่อ ก็ควรเปลี่ยนเป็นการให้คำแนะนำปรึกษาแทน ไม่ควรหยิบยื่นเงินสำรองของตนเองออกไปใช้

2. ให้ความช่วยเหลือลูก ๆ ที่โตแล้วแต่ยังไม่มีงานทำในเรื่องที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

เด็กจบใหม่จำนวนมาก ยังหางานทำไม่ได้ และยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ในจุดนี้ ดังนั้นพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูก ๆ ได้ในเรื่องที่ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีก็ไม่มากนัก เช่น ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ส่วนค่าใช้จ่ายในบ้านบางอย่างหากคิดว่าพ่อแม่รับภาระไหว จะไม่ขอความช่วยเหลือจากลูก ๆ ก็ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ทางที่ดีควรกระตุ้นให้ลูกเกิดกำลังใจ และออกไปสร้างงานให้เร็วที่สุด

3. กระตุ้นให้ลูก"วางแผนชีวิต"

หากลูกสำเร็จการศึกษาแล้ว และต้องการมีครอบครัว การวางแผนในสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากพอ ๆ กับจะเก็บเงินอย่างไร จะย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ใด นอกจากนั้นแล้วก็ไม่ควรลืมว่า เมื่อถึงจุดที่ลูกเติบโต มีงานทำ มีรายได้ แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพ่อแม่ พ่อแม่ก็ควรบอกให้ลูก ๆ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ ค่าต่อทะเบียนรถ ค่าประกันภัย ฯลฯ

4. สอนลูก ๆ เกี่ยวกับการ"จัดการ"เงินตั้งแต่ยังเล็ก

พ่อแม่ควรปลูกฝังลูก ๆ ในการบริหารจัดการเงินให้ดี ทั้งการออมเงิน การใช้เงินในชีวิตประจำวัน หรือหากเป็นไปได้ ก็ลองให้ลูก ๆ เก็บออมเงินสำหรับการศึกษาของพวกเขาในอนาคตด้วยก็ดี (เช่น ในระดับมหาวิทยาลัย หรือการเรียนพิเศษด้านต่าง ๆ) เพราะหากลูก ๆ ต้องการเรียนสูงมากเท่าใด เงินที่ต้องใช้ก็มากเท่านั้น และอาจมารบกวนกับเงินเก็บก้อนสุดท้ายของพ่อกับแม่ได้ในที่สุด

เรียบเรียงบางส่วนจาก U.S.News
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก