คาดตรุษจีนเงินสะพัดแบงก์อัดสำรอง 3 หมื่น ล.ราคาของเซ่นไหว้พุ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด เม็ดเงินสะพัดช่วงตรุษจีนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ธปท.ประเมินแบงก์พาณิชย์มียอดเบิกจ่ายธนบัตรของลูกค้ากว่า 3.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4% ยันมีการสำรองไว้แล้วกว่า 4 แสนล้านบาท มั่นใจเพียงพอต่อความต้องการ ด้านราคาสินค้าเซ่นไหว้ปรับพุ่งขึ้น ทั้งหัวหมู เป็ด ไก่ และผลไม้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในเทศกาลตรุษจีนปี 2554 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น คาดการณ์ว่า กิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2554 ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประเพณี 12,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ และค่าใช้จ่ายในการแจกอั่งเปา

ส่วนที่สองคือ เม็ดเงินสะพัดจากค่าใช้จ่ายในด้านสันทนาการ 8,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ซึ่งเม็ดเงินสะพัดในส่วนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเงินอั่งเปาที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายต่อเนื่องในกิจกรรมต่าง ๆ และส่วนที่เหลือมาจากการใช้จ่ายเงินของคนกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดของสมาชิกในครอบครัว หรือการลาหยุดเพื่อพักผ่อนในช่วงนี้

สำหรับเม็ดเงินสะพัดช่วงตรุษจีนปีนี้ เป็นทั้งกิจกรรมนอกบ้านในกรุงเทพฯ การเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ เดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืน และการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับหลากหลายธุรกิจ บรรดาธุรกิจต่างๆ ปรับตัวเตรียมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน

สาเหตุที่ทำให้ตรุษจีนปีนี้กระเตื้องขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน และปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นประเพณีความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนที่จะต้องไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษเพื่อรับกับปีใหม่ โดยเฉพาะเพื่อให้การค้าในปีใหม่เจริญรุ่งเรือง และรับโชคลาภในปีใหม่ ดังนั้น คนไทยเชื้อสายจีนที่ยังยึดถือประเพณีการไหว้เจ้าก็ยังคงมีการไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีนต่อไป

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประชาชนเป็นมูลค่า 31,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4% และเมื่อรวมกับการเบิกจ่ายธนบัตรที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นเดือนตามปกติ ทำให้คาดว่าจะมียอดเบิกจ่ายรวม 141,500 ล้านบาท

ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2554 จนถึงเทศกาลตรุษจีนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ ธปท.จะเตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการเบิกจ่ายให้เพียงพอ โดยวันที่ 26 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ธปท.ได้สำรองธนบัตรรวมมูลค่า 407,600 ล้านบาท

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ธนาคารสำรองธนบัตรรวม 24,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15% โดยยืนยันว่ามีธนบัตรสำรองเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน

ขณะที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ธนาคารเตรียมสำรองธนบัตรผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขารวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เตรียมสำรองธนบัตรใหม่ให้ลูกค้าและประชาชนทั่วไปสามารถแลกเพื่อนำไปเป็นเงินอั่งเปามอบแก่ลูกหลานและญาติมิตร ประกอบด้วยธนบัตรชนิด 1,000 บาท 500 บาท 100 บาท และ 20 บาท รวม 22 ล้านฉบับ นอกจากนี้ธนาคารเตรียมซองอั่งเปาเพื่อมอบแก่ลูกค้าธนาคาร 3.6 แสนซอง

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ราคาสินค้าเซ่นไหว้ตรุษจีนในหลายจังหวัดได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า พ่อค้าแม่ค้า จ.น่าน เริ่มนำผลไม้ออกวางจำหน่ายก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่า ช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ผลไม้หลายชนิดปรับราคาสูงขึ้น เช่น ส้มสายน้ำผึ้ง ที่ปรับราคาเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ ปรับตัวขึ้นอีกประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท และยังคาดว่าราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับ จ.นครสวรรค์ สินค้าหลายรายการเริ่มปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ผลไม้ ประเภทส้ม ซึ่งจากเดิมราคากิโลกรัมละ 55 บาท เป็น 60 บาท ชมพู่จากกิโลกรัมละ 60 บาท เป็น 65 บาท และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ส่วนเนื้อหมูและเนื้อไก่ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการปรับราคา แต่พ่อค้าแม่ค้าเชื่อว่า ช่วงวันจ่าย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ สินค้าจะปรับราคาขึ้นอีกแน่นอน

ขณะที่ ตลาดสดแม่กิมเฮง เขตเทศบาลนครราชสีมา ราคาสินค้าบางประเภทเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหัวหมู ไก่ เป็ด และผลไม้ ที่ปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 10 บาท โดยประชาชนเชื่อว่า ช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนนั้น ราคาสินค้าทุกประเภทจะปรับตัวสูงขึ้นอีกร้อยละ 10

ส่วนบรรยากาศการจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ยังไม่คึกคัก โดยเฉพาะพืชผักที่มีราคาแพงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 3 เท่าตัว ขณะที่ราคาผลไม้ปรับสูงขึ้นอีกชนิดละประมาณ 5 บาท

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก