นับจากวันที่ “ตัน ภาสกรนที” ผลักดัน “โออิชิ” ที่เขาสร้างมากับมือจนเติบใหญ่และสามารถเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สำเร็จ ชื่อ “ตัน” ก็ปรากฏอยู่ในตาราง Role Model อันดับต้นๆ เรื่อยมา แต่ไม่เคยมีปีไหนที่เขาจะไต่ขึ้นมาถึงอันดับ 1 ได้ จนกระทั่งปีนี้
จากตาราง 50 Role Model ปี 2553 พบว่า ผู้อ่านนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ชื่นชมตันในฐานะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และมีความเป็นผู้นำสูง และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ “โออิชิ” ที่มักมาคู่กับแบรนด์ “ตัน” จนแทบไม่มีใครไม่รู้จักชายร่างท้วมนามว่า “ตัน โออิชิ” ...แต่ถึงกระนั้น อันดับที่ดีที่สุดของตันก็ทำได้เพียงที่ 3
จากผล CEO’s Vote ผลงานบวกกับสไตล์บริหาร ธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “แบบตัน” และความเป็นตัวตนของ “ตัน” ได้รับความชื่นชมจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูง หลายราย จนทำให้ตันสามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ใน Role Model ประจำปี 2553 ได้ในที่สุด
ทั้งๆ ที่กลางปีที่ผ่านมา ตันเพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโออิชิ นั่นหมายถึงการเดินออกมาจากอาณาจักรของเจริญ สิริวัฒนภักดี เพื่อเริ่มต้น ธุรกิจใหม่ของตัวเองในวัย 51 ปี ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 500 ล้านบาท โดยเขาเลือกฤกษ์ดีเปิดตัวบริษัท “ไม่ตัน” เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ที่ผ่านมา
“สำหรับนิยามของชื่อบริษัท “ไม่ตัน” คือเราจะไม่ตัน มีทางออก สู้ และไม่ยอมแพ้ โดยบริษัทไม่ตันจะเป็นบริษัทที่เปิดกว้างในการทำธุรกิจทุกรูปแบบ เพื่อให้ธุรกิจเติบโต”
พร้อมกับชื่อบริษัทใหม่ ตันพยายามโปรโมตสมญานาม ใหม่ที่เขาอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันเรียกให้ชินปากในเร็ววัน นั่นก็คือ “ตัน ไม่ตัน”
ตันกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้บริหารติดดินและนักสู้ชีวิต ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและอุปสรรค สมดังสโลแกนประจำตัวเขาที่ว่า “ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน” ซึ่งกลายเป็นชื่อพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกของเขา
ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคาร เกียรตินาคิน เป็น 1 ในซีอีโอที่โหวตให้ตัน บอกถึงเหตุผลในการเลือกตันในทำนองเดียวกันว่า เป็นเพราะตันสามารถต่อสู้ชีวิต และฝ่าฟันวิกฤติมาจนประสบความสำเร็จทั้งในด้านส่วนตัวและองค์กร
ยิ่งเมื่อเทียบกับผู้บริหารอีก 49 คนในตาราง 50 Role Model ตันเริ่มต้นด้วย “ต้นทุนทางสังคม” ที่น้อยกว่าอีกหลายคน แม้แต่วุฒิการศึกษา ตันก็จบเพียงมัธยม 3 ขณะที่ต้นทุนทางการเงินก็เริ่มต้นจากจุดที่ไม่สูงเหมือนคนอื่น และเคยตกต่ำถึงขนาด เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบกว่า 100 ล้านบาทเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ก่อนจะมาปั้นธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่ม จน “โออิช”” กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าธุรกิจหลาย พันล้านบาทในเวลาเพียงไม่นาน
ด้วยความสำเร็จจากการบริหาร ธุรกิจโออิชิจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้ ตันได้รับปริญญาจากบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาการบริหาร ธุรกิจ) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาประดับโปรไฟล์ด้านการศึกษาได้ในที่สุด
ผู้บริหารที่ลงคะแนนให้ตันบางท่านเชื่อว่า “การทำการตลาดแบบนอกกรอบ” และการนำไอเดียเหล่านั้นมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนคนอื่น เป็นปัจจัยที่ทำให้ “ตัน โออิชิ” ประสบความสำเร็จ
สอดคล้องกับวิธีคิดของตัน ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ถ้าจะต้องเป็นเป็ดที่กำลังจะถูกเชือด เขาก็อยากเป็นเป็ดที่เป็นผู้นำ เพราะอย่างน้อยก็ตายแบบหัวหน้าเป็ดและก็น่าจะได้รับการพูดถึงบ้าง
การทำการตลาดนอกกรอบ บวกกับการทำโปรโมชั่น “แรงๆ” อย่าง “รวยฟ้าผ่า” หรือ “ไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊งค์” ก็ช่วยทำ “โออิชิ” กลายเป็น “talk of the town” ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ยิ่งบวกกับการที่ตัน “เล่น” กับสื่อเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวเองเป็นพรีเซ็นเตอร์ แจกเงินรางวัลแก่ผู้โชคดีถึงบ้านทันทีทันควันใน 24 ชั่วโมงผ่านสื่อต่างๆ หรือเป็นหัวหน้า ทริปนำผู้โชคดีไปทัวร์ต่างประเทศด้วยตัวเอง รวมถึงการสรรหาประเด็นใหม่มาให้นักข่าวติดตามอยู่เสมอ ไม่เพียงเรื่องของเขาด้วยบทบาทของพ่อที่ดี ทั้งครอบครัวของตัน จึงมักได้ลงสื่ออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะตันกับลูกสาวคนโตที่กำลังทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ด้วยตัวเอง เรื่องราวของตันจึงมักปรากฏในสื่ออย่างสม่ำเสมอ
บวกกับการที่ตันมักไปเป็นวิทยากรพูดเรื่องราวของแบรนด์โออิชิและประเด็นธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสมัยที่ยังเป็น “ตัน โออิชิ” เจ้าของธุรกิจเอง เขารับเชิญขึ้นเวทีเฉลี่ย 5-6 แห่งต่อเดือน ตันจึงกลายเป็น ที่รู้จักในสังคมอย่างกว้างขวาง และมีแฟนคลับจำนวนไมน้อย
ซิคเว่ เบรกเก้ ซีอีโอแห่งเทเลนอร์ เอเชีย ให้ความเห็นว่า CEO ที่ดีนอกจากจะต้อง ทำหน้าที่เป็น Chief Executive Officer ควรต้องเป็น Chief Emotional Officer ด้วย คือยังต้องเป็นผู้สื่อสารที่ดีที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดเรื่องราวของบริษัทไปสู่สาธารณชนได้ ซึ่งเขามองว่า ตันมีคุณสมบัติข้อนี้ค่อนข้างเด่นชัดกว่าผู้บริหารอีกหลายคน
หลังจากเทขายหุ้นให้เจริญด้วยมูลค่าสูงถึง 3.3 พันล้านบาท และนั่งเก้าอี้ ผู้บริหารของโออิชิในฐานะลูกจ้างต่ออีก 4-5 ปี กลางปีที่ผ่านมา ตันก็ลุกขึ้นลาออก จากตำแหน่ง “ลูกจ้างหมายเลข 1” ของเสี่ยเจริญ เพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเอง
การดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่ตัน ประกอบด้วย 1) ธุรกิจอาหาร โดยร่วมทุน กับบริษัทญี่ปุ่นเปิดศูนย์รวม “ราเมน แชมเปี้ยน” ทั้งหมด 6 แบรนด์ 6 ร้านไว้ด้วยกัน โดยมีสาขาที่อารีน่า 10 ทองหล่อ ก่อนจะตามมาด้วยสาขาสุขุมวิท 22 และสาขาเชียงใหม่ ในปีนี้ 2) ธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เปิดตัวกลางปีนี้ 2 ปี 2554 และ 3) ธุรกิจบันเทิงและร้านคาราโอเกะ โดยร่วมทุนกับ R&B Karaoke ในสัดส่วน 50:50
ด้วยมูลค่าธุรกิจ ดูเหมือนว่าแบรนด์ “ตัน ไม่ตัน” จะมีน้ำหนักน้อยกว่า “ตันโออิชิ” อย่างมาก แรงดึงดูดสื่อจึงดูน้อยลง จากเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงกระนั้น ตันก็ยังหมั่นหาวาระมาเป็นประเด็นตามสื่อต่างๆ ได้อยู่ดี
เริ่มต้นจากวันแรกที่ประกาศเปิดตัว บริษัท ตันยอมรับว่า บริษัทไม่ตันยังไม่มีพนักงานสักคน แต่เขากำลังสรรหาบุคคล 9 คน เข้าทำงานในหน้าที่ต่างๆ ภายใต้ “โครงการ The 9 Challengers” โดยกระบวนการคัดเลือกค่อนข้างคล้ายกับรายการ “reality show” คือผู้สมัครส่งคลิปสั้นแสดงตัวตนของตัวเองและเหตุผลว่า ทำไมตันต้องเลือกตนเข้ามา
ตั้งแต่การรับสมัคร กระบวนการคัดเลือก จนถึงการประกาศผลผู้ได้รับเข้าทำงาน ล้วนถูกอัพเดตผ่านเฟซบุ๊กของตัน (www.facebook.com/tanmaitan) เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจนทำให้ยอดแฟนเพจของตันพุ่งขึ้นจากหลักพันเป็นหลักแสนในเวลาไม่นาน
เฟซบุ๊กกลายเป็นสื่อที่แฟนคลับตันสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของตันและบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถติดตามดูผลงานที่ตันไปออกตามสื่อต่างๆ และตาม อ่านวิธีคิดตาม “วิถีตัน” ประสบการณ์ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และชีวิตครอบครัวของตัน ตลอดจนมุมมองธุรกิจรูปแบบใหม่จากตันได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมงานคอยอัพเดตให้อยู่เสมอ
ตันอัพเดตเฟซบุ๊กเองไม่ได้ เพราะลำพังแค่จะใช้คอมพิวเตอร์ เขายังทำไม่ค่อยจะเป็นด้วยซ้ำ แต่เพราะเห็นความสำคัญในการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก ในฐานะที่เป็นสื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในโลกออนไลน์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากตันไปใช้ในการทำงาน ก็เป็นคนรุ่นใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน
แต่ถึงจะมีเฟซบุ๊กเป็นสื่อส่วนตัว ตันก็ยังไม่ทิ้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เพราะกระแสข่าวการรับสมัครพนักงานด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใครของตันยังไม่ทันซา เขาก็ออกรายการโทรทัศน์ให้ข่าวเรื่องการเดี่ยวไมโครโฟนของตัวเอง โดยมี “โน้ส อุดม” เจ้าพ่อ เดี่ยวไมโครโฟนเป็นเทรนเนอร์ โดยให้เหตุผลการเปิดเวทีเดี่ยวว่าเพื่อนำเงินรายได้จากการขายบัตร (ไม่หักค่าใช้จ่าย) ไปสร้างโรงเรียนผ่านมูลนิธิตันปันที่เพิ่งเปิดตัววันเดียวกับ บริษัทใหม่
แม้ตันอาจจะไม่เคยรู้ตัวว่ามีผู้บริหารธุรกิจหลายรายชื่นชมในตัวเขา แต่สิ่งที่เขาตระหนักดี นั่นก็คือ เขากลายเป็นแรงบันดาลใจของคนในสังคมหลายคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ในวาระที่เริ่มต้นการสร้างบริษัทใหม่ครั้งนี้ ตันได้ประกาศอุทิศตนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม โดยเฉพาะเรื่อง “การให้”
“เพราะตลอดเวลา 30 กว่าปี ผมทำงาน 5 ปี จากนั้นผมทำธุรกิจอีก 25 ปี หลังจากวันที่ 9 กันยายน ผมจะไม่ถือว่าผมทำธุรกิจแล้ว แต่ผมจะทำภารกิจ ผมตั้งใจว่า 9 ปี นับจากนี้ ผมจะมุ่งมั่นสร้างบริษัท ไม่ตัน ให้เป็นธุรกิจเพื่อภารกิจของมูลนิธิตันปัน” ตันพูดในวันเปิดตัวบริษัทและมูลนิธิ
นับจากปีแรกที่ดำเนินการ ตันตั้งใจแบ่งเงินปันผล 50% ให้กับมูลนิธิตันปัน จนกระทั่งเมื่อตันมีอายุครบ 60 ปี เขาจะเพิ่มเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 90% ให้กับมูลนิธิตันปันไปตลอด เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
การตอบแทนสังคมด้วยการให้และการพยายามทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คน ในสังคม โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ กลายเป็นอีกคุณสมบัติสำคัญของตันที่ทำให้ทั้งธวัชไชยและซิคเว่ประทับใจในตัวตันอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ตันยอมรับว่านับตั้งแต่ปีแรกในการตั้งบริษัทใหม่ ความท้าทายที่รอเผชิญหน้า นั่นก็คือ ความคาดหวังของผู้บริโภค พันธมิตรทางธุรกิจและสื่อมวลชน ที่ต่าง ก็หวังจะเห็นสินค้าและบริการที่ดี รวมถึงความแปลกใหม่จากแบรนด์ “ตัน ไม่ตัน”
ปีแรก ตันตั้งเป้ารายได้ของบริษัท เอาไว้ที่ขั้นต่ำ 500 ล้านบาท และภายใน 3 ปี ยอดขายทะลุ 2 พันล้านบาทให้ได้ ซึ่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ตันเคยชินกับการสร้างบริษัทโออิชิก็นับเป็นอีกความกดดันที่ตันเลือกจะหยิบมาท้าทายตัวเอง และเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์เลือดความเป็นเถ้าแก่และจิตวิญญาณนักต่อสู้ชีวิตของตันอีกครั้ง!
ที่มา manager
ข่าวหุ้น,ตลาดหุ้น,ข่าวธุรกิจ,การซื้อขาย,สกุลเงินซื้อขาย,trading currency,forex trader,forex online trading,forex trading,trade,traing
คลังบทความของบล็อก
-
▼
2011
(73)
- ► กุมภาพันธ์ (11)
-
▼
มกราคม
(15)
- ธุรกิจดอกไม้เงินสะพัดรับวาเลนไทน์ มิสลิลลี่ผนึก5พั...
- คาดตรุษจีนเงินสะพัดแบงก์อัดสำรอง 3 หมื่น ล.ราคาของ...
- สอนลูกบริหารเงิน ก่อน"เงินเกษียณ"ของพ่อแม่สูญ
- "AIS "ทุ่มหมื่นล้าน ขยายเน็ตเวิร์กสู้ศึก
- ตัน ภาสกรนที กับชีวิตใหม่ที่ “ไม่ตัน”
- แนะจับตากองทุนใหญ่เทขายทอง-หันเก็งกำไรหุ้นน้ำมัน ล...
- 3 เดือนแอปเปิลฟันกำไร 6 พันล.ดอลล์
- ธอส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-ตั๋วสัญญาใช้เงิน
- เงินคงคลังไทยแข็ง313,429 ล้านบาท
- จอมแฉชาวสวิสเตรียมเผยบัญชีธนาคาร “เศรษฐี-นักการเมื...
- กูรูแนะสะสมกองทุนทองคำเพิ่ม มั่นใจราคายังอยู่ในช่ว...
- รายงานเผย “เฟซบุ๊ก” ขอเทกโอเวอร์ “ทวิตเตอร์” ในปี ...
- 4ค่ายยักษ์บัตรเครดิตชิงเจ้าตลาด ชู"ดบ.0%-ซื้อ1แถม1...
- ช่องทางสร้างอาชีพ
- เปิดคัมภีร์วิธีการหากำไรจากหุ้นบนฟองสบู่