"ชัย โรงเกลือ" เจาะธุรกิจมือสอง ซื้อมา-ขายไป เอาใจคนรักแบรนด์
"การประกอบอาชีพนี้สิ่งสำคัญคือต้องรู้จริง ต้องดูสภาพสินค้าเป็น แต่ถามว่าข้อดีของธุรกิจนี้คืออะไร คือผลกำไรได้มากกว่าสินค้ามือหนึ่งหลายเท่าตัว แต่สำคัญคือ ต้องรอ เพราะอย่างลูกค้าเดินเข้าร้าน อาจมีแบรนด์ที่เขาต้องการ แต่ขนาดไม่ได้ ยอดขายไม่เกิดแล้ว ฉะนั้น ชัย โรงเกลือ จึงใช้วิธีรับออร์เดอร์ไว้ ได้ของมาจึงแจ้งให้ลูกค้าทราบ"
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เห็นจะมีปีนี้ที่ตลาดโรงเกลือกลับมาคึกคักรวดเร็วกว่าทุกปี อันเนื่องจากลมหนาวที่พัดผ่านมาเร็วนั่นเอง ผู้ค้าในตลาด ถึงคราวนี้เริ่มยิ้มได้ ต่างเตรียมกักตุนสินค้าสต๊อคไว้ รอจังหวะระบายออกในช่วงฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า "นาทีทอง"
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมือสอง คือสินค้านำเทรนด์เสมอในตลาดแห่งนี้ แต่นับจำนวนผู้ขายใช่ว่าจะน้อย เหตุนี้ ผู้ประกอบการบางราย อย่าง คุณชูชัย ดำรงสันติสุข วัย 48 ปี เจ้าของร้าน "ชัย โรงเกลือ" จึงต้องค้นหาความต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยการเลือกสรรเสื้อผ้ามือสองแบรนด์ดังจากทั่วโลกมาจำหน่าย
หลีกหนีความวุ่นวาย
ขายเสื้อผ้าแบรนด์เนม
คุณชูชัย เริ่มต้นเล่าเรื่องราวจังหวะก้าวสู่ธุรกิจ โดยหลังศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบอาชีพค้าขายวัสดุก่อสร้างอยู่ในจังหวัดบ้านเกิด อีกทั้งยังเป็นผู้สื่อข่าว และลงเล่นการเมือง กระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำขณะนั้น
"ค้าขายอยู่สุรินทร์ กระทั่งมาลงเล่นการเมือง ต่อมาหยุดพัก เพราะเงินทองไม่เหลือ แต่ความวุ่นวายไม่หยุดหย่อน จึงเริ่มมองหาทำเล หาทางสร้างเนื้อสร้างตัว กระทั่งมาตลาดโรงเกลือ ซึ่งสมัยเมื่อประมาณ 10 ปี เริ่มคึกคัก แต่อาจจะไม่มากเท่ากับช่วงเปิดด่านเป็นต้นมา"
คุณชูชัยติดต่อขอเช่าพื้นที่ห้องค้าขนาด 1 คูหา โดยมองว่าสินค้านำมาจำหน่ายต้องเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่กระนั้นเท่าที่สังเกตตลาด มีผู้ดำเนินการอยู่หลายราย และส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา ซึ่งโดยนิสัยกินอยู่อย่างประหยัด ทำให้ค่าครองชีพต่ำ ฉะนั้น เวลาขายสินค้าได้กำไร 5 บาท 10 บาท เพียงพอแล้ว อีกทั้งผู้ขายชาวกัมพูชายังมีขาประจำเหนียวแน่น คงมิอาจสู้ได้ เหตุนี้จึงมุ่งความสนใจไปที่สินค้าแบรนด์เนม
แต่สำหรับมือใหม่หัดขาย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...
"เคยค้าขายสินค้า แต่ก็เป็นวัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าจึงดูห่างไกล โดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์เนม บอกตามตรงว่าตอนนั้นแทบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่ามีแบรนด์อะไรบ้าง แต่เมื่อก้าวเข้ามาทำจริงจัง จำเป็นต้องศึกษา เริ่มจากลูกค้าแนะนำ จากนั้นเปิดข้อมูลทางเว็บไซต์ บอกตามตรงว่าตอนแรกได้สินค้าก๊อบปี้บ่อยมาก เพราะดูของแท้ไม่เป็น แต่สุดท้ายคือพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่หยุด"
ด้วยความมุมานะพยายาม จากคนไม่รู้จักแบรนด์ กลับกลายเป็นรอบรู้หลากหลายยี่ห้อทั่วโลก แต่คุณชูชัย ว่า แบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากประเทศญี่ปุ่น เป็นเสื้อผ้าสไตล์ฮิปฮอป แต่กระนั้นผู้สวมใส่กลับเป็นวัยผู้ใหญ่ ส่วนสนนราคาขาย เริ่มต้นตั้งแต่ตัวละ 1,500 บาท ไปจนกระทั่งสูงสุดราว 4,000 บาท
"จริงแล้วของแบรนด์เนมดังๆ ย่อมจะมีสินค้าลอกเลียนแบบเกิดขึ้น บางครั้งทำได้เหมือนมาก ต้องยอมรับว่าบางทีดูไม่ออก แต่สิ่งสำคัญคือสภาพสินค้า ถ้าเก่าแล้วดูดี สามารถนำมาขายได้"
จับสินค้าหัวกะทิ
จ้างคัด คุ้มกว่า
ย้อนกลับไปถามถึงเงินทุนเบื้องต้นเท่าใด คุณชูชัย ว่า ประมาณ 40,000-50,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าเช่าสถานที่ และค่าสินค้า "ถ้าพูดถึงค่าสินค้าหมดเงินไปไม่มาก เพราะรับมาราคาถูก อาจจะตัวละ 100 บาท คือต้องอยู่ที่สายตาด้วยว่าจับเป็นหรือเปล่า แต่ถ้ามีคนสนใจก้าวสู่ธุรกิจนี้ กับตลาดแห่งนี้ ปัจจุบัน คงต้องกำเงินไว้ในมือประมาณ 500,000 บาท ด้วยเพราะค่าเซ้งร้านสูงมาก แค่เฉพาะค่าเช่าเดือนหนึ่งก็เป็นหมื่นแล้ว แต่โดยส่วนตัวผมเช่าในราคา 8,000 บาท"
สำหรับแหล่งซื้อสินค้า มาจากพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยคุณชูชัยระบุแบรนด์สินค้า แล้วให้ผู้มีอาชีพคัดเลือกผลิตภัณฑ์นำมาส่งขายให้อีกต่อหนึ่ง "พนมเปญจะมีผู้รับซื้อรายใหญ่ไปเหมาเสื้อผ้ามาจากหลายประเทศ อย่างเช่น ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ปากีสถาน เป็นตู้คอนเทนเนอร์ เรียกว่ากองเป็นภูเขา แล้วผู้คัดจะเดินทางไปเลือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา โดยสินค้าที่ร้านชัย โรงเกลือ ต้องการเรียกว่าหัวกะทิ เพราะมัดหนึ่ง หรือเรียกว่ากิ๊ป อาจมีแบรนด์เนมไม่กี่ตัว หรือไม่มีเลย ผมจึงต้องสั่งออร์เดอร์ไว้ จากนั้นผู้คัดจะนำมาส่งให้ที่ร้าน กับราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่ตัวละ 100 บาทขึ้นไป"
ถามว่าทำไมไม่เดินทางไปคัดเลือกเสื้อผ้าด้วยตัวเอง คุณชูชัย ตอบเลยว่า ไม่คุ้ม เพราะก่อนอื่นต้องซื้อผ้ายกกิ๊ปเพื่อนำมาคัด และดังได้กล่าวแล้วว่า 1 กิ๊ปอาจไม่มีแบรนด์เนม หรือมีน้อย แล้วผ้าที่เหลือจำนวนมากจะนำไปไว้ไหน แต่สำหรับผู้มีอาชีพคัดผ้าโดยตรง เขาสามารถส่งผ้าไปจำหน่ายได้ตามเกรด
"หน้าที่คัดผ้า คนไทยคงสู้ชาวกัมพูชาไม่ได้ เขาเข้าถึง รู้ทาง และกับเสื้อผ้าแบรนด์เนม ต้องยอมรับว่าชาวกัมพูชาหูไวตาไวขึ้น สามารถดูออก และรู้ด้วยว่าตลาดต้องการ ปัจจุบัน ราคาขายส่งจึงขยับขึ้น แต่ก็ไม่ถือว่าอยู่ในขั้นลำบากต่อการค้าขาย เพราะโดยส่วนตัวทราบราคาซื้อขายอยู่แล้ว"
แม้อาจต้องใช้ระยะเวลานานกับการรอคอยสินค้า แต่กระนั้นการจับตลาดลักษณะนี้ถือเป็นความโชคดี เพราะคู่แข่งขันน้อย
"ข้อได้เปรียบอีกประการ คือ การทำงานของร้าน เป็นลักษณะครอบครัว ไม่มีปัญหาเรื่องนายจ้างลูกจ้าง บริหารจัดการร้านเล็กๆ สามารถทำได้ไม่ยากนัก สินค้าได้มาก็ขายไป ไม่ต้องสต๊อคมาก จะมีก็แต่ในช่วงใกล้ถึงฤดูหนาว จำเป็นต้องกักตุนสินค้า ซึ่งลำพังเงินทุนตัวเองคงทำได้ไม่คล่องนัก จึงต้องยื่นความจำนงขอสินเชื่อไปยังเอสเอ็มอี แบงก์ เพื่อมาเป็นทุนหมุนเวียน"
ต้นทุนต่ำขายได้
เจาะตรงใจลูกค้า
คุณชูชัย ยังกล่าวถึงสินค้าว่า แม้ได้มาก็ใช่จะแขวนขายได้เลย แต่ต้องส่งเข้าสู่โรงงานซัก/ฟอก/รีด ซึ่งตลาดโรงเกลือมีผู้ประกอบธุรกิจนี้รองรับ กับค่าบริการ ยกตัวอย่าง กางเกง ซักฟอก ตกตัวละ 4-5 บาท แต่ถ้ารีดด้วยคิดเพิ่มตัวละ 1 บาท
"การประกอบอาชีพนี้สิ่งสำคัญคือต้องรู้จริง ต้องดูสภาพสินค้าเป็น แต่ถามว่าข้อดีของธุรกิจนี้คืออะไร คือผลกำไรได้มากกว่าสินค้ามือหนึ่งหลายเท่าตัว แต่สำคัญคือ ต้องรอ เพราะอย่างลูกค้าเดินเข้าร้าน อาจมีแบรนด์ที่เขาต้องการ แต่ขนาดไม่ได้ ยอดขายไม่เกิดแล้ว ฉะนั้น ชัย โรงเกลือ จึงใช้วิธีรับออร์เดอร์ไว้ ได้ของมาจึงแจ้งให้ลูกค้าทราบ"
สำหรับผู้ใดสนใจประกอบธุรกิจค้าขายสินค้ามือสอง คุณชูชัย แนะนำพอเป็นแนวทาง ว่าเริ่มแรกต้องหากลุ่มเป้าหมาย หาตลาดให้ได้ก่อน อย่างถ้าต้องการเปิดร้าน โดยทำเล คือ ตลาดโรงเกลือ ซึ่งปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลง จากแต่ก่อนสินค้าทั้งหมดมือสอง 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสินค้ามือหนึ่งสารพัดชนิดเข้ามาแทนที่
ลำดับต่อมา หาลูกค้าประจำให้ได้ หรือถ้าต้องการเจาะตลาดชาวกัมพูชา คุณชูชัย แนะให้นำสินค้าตัวอย่างไปเสนอกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสินค้าไทยมือหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด "สินค้าโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ ชาวกัมพูชาชอบมาก เขานิยมแฟชั่นทันสมัย ซึ่งผมเคยเดินดูตลาดในประเทศเขา สินค้าไทยทั้งนั้น แล้วขายดีด้วย ผู้ประกอบการอาจใช้พื้นที่ของตลาดโรงเกลือเป็นจุดหน้าร้านแล้วกระจายส่งให้เขานำไปขายปลีก"
คุณชูชัย ยังกล่าวถึงโอกาสทางการค้าว่า มีแนวโน้มเติบโตดี สังเกตได้จากจำนวนตลาดเพิ่มขึ้น นับเกือบ 10 แห่งแล้วในละแวกเดียวกัน โดยสินค้านอกจากเครื่องแต่งกาย ยังมีเครื่องประดับ ของใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านอุปโภค บริโภค นับไม่ถ้วน
"อีกประการหนึ่งอยากจะบอกไว้ ตลาดโรงเกลือมีช่วงนาทีทอง เฉพาะฤดูหนาว ราว 3 เดือน ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป พ้นจากนี้ไป โอกาสขายได้น้อยมาก แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว ยกตัวอย่างปีนี้หนาวเร็ว สัปดาร์แรก รายได้ 300,000 กว่าบาทแล้ว"
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของร้าน ชัย โรงเกลือ สัดส่วนยังคงเป็นคนไทย รองลงมา คือ ชาวต่างชาติ อาทิ มาเลเซีย เกาหลี จีน และโดยเฉพาะญี่ปุ่น "ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างแปลก ชอบเสื้อผ้ามือสองที่เป็นแบรนด์จากประเทศเขา และยิ่งเก่ายิ่งสวย โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่นำไปจำหน่ายให้คนญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง ทำเป็นแค็ตตาล็อกประกาศขายสินค้าเลย อย่างถ้าซื้อไปตัวละ 700 บาท เขาขาย 2,500 บาท นอกจากนั้น มีกลุ่มทัวร์ซื้อปลีกไปสวมใส่เอง
สำหรับคนกัมพูชาอย่างได้กล่าวข้างต้นว่า นิยมสินค้ามือหนึ่งของไทย แต่ถ้าเป็นชาวเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนผู้ค้าอยู่ในตลาดโรงเกลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เขาค่อนข้างอนุรักษ์นิยม คือใช้ของในประเทศ ฉะนั้น สำหรับมือใหม่สนใจก้าวเข้ามาทำตลาด ต้องรู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รู้ว่าจะขายใคร อันนี้สำคัญมาก"
สำหรับผู้ค้า หรือผู้สนใจ ต้องการจับจองสินค้ามือสองแบรนด์ดัง เดินทางไปได้ที่ร้าน "ชัย โรงเกลือ" ตั้งอยู่ เลขที่ 19/28 ถนนศรีเพ็ญ ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โทรศัทพ์ (083) 110-5738
ข้อมูลจำเพาะ
กิจการ จำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง (แบรนด์เนม)
ลักษณะกิจการ เจ้าของคนเดียว
ชื่อกิจการ "ชัย โรงเกลือ"
เจ้าของกิจการ คุณชูชัย ดำรงสันติสุข
เงินลงทุนเบื้องต้น 50,000 บาท (เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 บาท เพราะค่าเซ้งและเช่าพื้นที่สูง)
สินค้า เสื้อผ้ามือสอง
แหล่งซื้อ พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
วิธีซื้อ ผ่านผู้ประกอบอาชีพคัดเสื้อผ้า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา)
ราคารับซื้อ เริ่มต้นตัวละ 100 บาท
ราคาขาย ประมาณ 500 บาท ไปจนถึง 4,000 บาท
ยอดขาย หลักแสนต่อเดือน
สถานที่ตั้งร้าน/ติดต่อ เลขที่ 19/28 ถนนศรีเพ็ญ ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
โทรศัพท์ (083) 110-5738
"สินค้ามือหนึ่งสามารถนำมาจำหน่ายได้กับตลาดแห่งนี้ แต่ต้องติดต่อโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้ได้สินค้าราคาถูก แต่หากต้องการขายของมือสอง ควรดูราคาเช่นกัน เพราะผู้ค้า 70 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดโรงเกลือ เป็นชาวกัมพูชา เขาประหยัดกินประหยัดใช้ กำไรนิดหน่อยปล่อยของแล้ว และถ้าเป็นสินค้ามือสอง คนกัมพูชาได้เปรียบตรงแหล่งซื้อจากประเทศของเขา ฉะนั้น ผู้คิดก้าวสู่ธุรกิจนี้ต้องรอบคอบ"
จุดเด่น-อุปสรรค เสื้อผ้า สิ่งทอ ในตลาดโรงเกลือ
จุดเด่น
- สินค้ามือสองแบรนด์เนม คู่แข่งขันทางการตลาดน้อย
- ความต้องการสูง
- ผลต่างของกำไรมากว่าสินค้ามือหนึ่ง
อุปสรรค
- ต้องใช้ระยะเวลาในการรอคอยสินค้า
- ไม่สามารถกำหนดรูปแบบขนาดสินค้าได้ จึงส่งผลเรื่องโอกาสทางการค้า
- ไม่สามารถเดินทางไปคัดเลือกสินค้าเองได้ ในขณะที่ผู้คัดมีความรู้เรื่องการตลาดมากขึ้น
ช่องทางสร้างอาชีพ
ที่มา matichon
ข่าวหุ้น,ตลาดหุ้น,ข่าวธุรกิจ,การซื้อขาย,สกุลเงินซื้อขาย,trading currency,forex trader,forex online trading,forex trading,trade,traing
คลังบทความของบล็อก
-
▼
2011
(73)
- ► กุมภาพันธ์ (11)
-
▼
มกราคม
(15)
- ธุรกิจดอกไม้เงินสะพัดรับวาเลนไทน์ มิสลิลลี่ผนึก5พั...
- คาดตรุษจีนเงินสะพัดแบงก์อัดสำรอง 3 หมื่น ล.ราคาของ...
- สอนลูกบริหารเงิน ก่อน"เงินเกษียณ"ของพ่อแม่สูญ
- "AIS "ทุ่มหมื่นล้าน ขยายเน็ตเวิร์กสู้ศึก
- ตัน ภาสกรนที กับชีวิตใหม่ที่ “ไม่ตัน”
- แนะจับตากองทุนใหญ่เทขายทอง-หันเก็งกำไรหุ้นน้ำมัน ล...
- 3 เดือนแอปเปิลฟันกำไร 6 พันล.ดอลล์
- ธอส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-ตั๋วสัญญาใช้เงิน
- เงินคงคลังไทยแข็ง313,429 ล้านบาท
- จอมแฉชาวสวิสเตรียมเผยบัญชีธนาคาร “เศรษฐี-นักการเมื...
- กูรูแนะสะสมกองทุนทองคำเพิ่ม มั่นใจราคายังอยู่ในช่ว...
- รายงานเผย “เฟซบุ๊ก” ขอเทกโอเวอร์ “ทวิตเตอร์” ในปี ...
- 4ค่ายยักษ์บัตรเครดิตชิงเจ้าตลาด ชู"ดบ.0%-ซื้อ1แถม1...
- ช่องทางสร้างอาชีพ
- เปิดคัมภีร์วิธีการหากำไรจากหุ้นบนฟองสบู่