ค้น 'อาชีพ' ตลาดต้องการ แนะเทคนิคก้าวสู่ความสำเร็จ

ในช่วงใกล้เปิดเทอมเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ สำหรับผู้ที่ต้องศึกษาต่อคงกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์การเรียนให้พร้อม ขณะเดียวกันผู้ที่เรียนจบแล้ว หรือว่าที่บัณฑิตใหม่ภาระหน้าที่ที่ต้องทำต่อไปคงหนีไปพ้นการมองหางานที่ตนเองถนัด และสนใจ ก้าวสู่ชีวิตใหม่...คนทำงาน
เพราะงานทุกประเภทล้วนมีคุณค่า ช่วยเพิ่มทักษะเติมต่อประสบการณ์จากการเรียน อีกทั้งยังนำมาซึ่งรายได้ หากไม่เลือกรอคอยงาน โอกาสจะได้งานทำนั้นอยู่ไม่ไกล บุญเลิศ ธีระตระกูล ผู้อำนวยการกองวิจัยตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานเวลานี้จากแนวโน้มภาคการผลิตหลักซึ่งได้แก่

ภาคการเกษตร การอุตสาหกรรมและการบริการ แนวโน้มด้านการบริการมีการเติบโตมากกว่าทุกภาคการผลิต มีผู้ทำงานมากขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในช่วงปี พ.ศ.2553-2557 ที่กองวิจัยตลาดแรงงานศึกษาโดยดูข้อมูลย้อนหลังกลับไป 9 ปี จากฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาถึงอาชีพที่กำลังขยายตัวและอาชีพที่เริ่มลดถอยลงเพื่อประมาณการแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของแต่ละประเภทอาชีพ อีกทั้ง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีงานทำของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนหางานและประชาชนได้ใช้วางแผนอาชีพ

“จากการศึกษาจะเห็นว่าตำแหน่งงานภาคบริการ อย่างเช่น พนักงานขายของหน้าร้าน พนักงานสาธิตแนะนำสินค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละสามแสนกว่าคน ขณะที่ผู้ขายสินค้าตามแผงร้านค้าในตลาดก็มีตัวเลขไม่น้อย ฯลฯ อีกด้านหนึ่งในภาคการเกษตรพวกไม้ผล พืชผัก ไม้ยืนต้น ไม้พุ่มก็มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาคบริการอื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าทิศทางด้านการบริการกำลังเติบโต”

นอกจากงานภาคการบริการ งานช่างที่มีหลากหลายแขนงก็ยังคงมีความต้องการสูงเช่นกัน อาทิ ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ซึ่งถ้าเป็นช่างเชื่อมถังน้ำมัน ช่างเชื่อมเกี่ยวกับคอนกรีตรับแรงระดับสูง เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ฯลฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญความชำนาญเฉพาะด้านเหล่านี้ก็เป็นที่ต้องการมากเช่นกัน

จากโครงสร้างการศึกษาหากดูที่ตัวเลข ไม่ใช่เพียงเฉพาะในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน ทุกอายุรวมกันสำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงานอยู่ในตลาดแรงงานพบว่า มีทุกระดับ ขณะที่ตลาดแรงงานต้องการวิชาชีพทางด้านธุรกิจการค้า การบริการ เกี่ยวกับการช่าง แต่อย่างไรแล้วบัณฑิตที่จบการศึกษามาทางสายวิชาการ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตว่างงาน

จากประมาณการที่จะมีผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับขั้นเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้ ในระดับปริญญาตรี ซึ่งจะมีประมาณสองแสนกว่าคน ระดับ ปวช. 3 และ ปวส.รวมกันประมาณแสนคน ซึ่งมีอยู่น้อยแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกับตลาดงานและจากงานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องทั้งทางด้านความสามารถ วุฒิการศึกษา ฯลฯ

“โครงสร้างประชากรของเรากำลังไปสู่สังคมผู้สูงอายุคนรุ่นใหม่ไม่พอแทนที่คนรุ่นเก่า สภาพในวันนี้ก็ไม่เหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดีมานด์ซัพพลายทางด้านแรงงานก็มีความต่างกัน อีกทั้งตลาดงานในวันนี้ภาคบริการก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคการเกษตรเริ่มลดลง แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ว่างงานบ้านเราในภาพรวมยังคงไม่น่าห่วง”

ในส่วนของบัณฑิตจบใหม่จากข้อมูลพบว่ามีการผลิตสายวิชาการออกมามาก แต่ถ้าบัณฑิตไม่เลือกงานไม่กะเกณฑ์ว่าเรียนมาอย่างนี้แล้วต้องทำงานด้านนั้น รอและเลือกงาน คำตอบก็คือยังมีงานให้ทำ เพียงแต่ว่าจะเลือกหรือเปล่า ทั้งนี้เพราะบางคนมีทัศนคติว่าการไม่ได้ทำงานตามวุฒิไม่มีศักดิ์ศรี คิดไปว่าการว่างงานมีศักดิ์ศรีดีกว่า ซึ่งก็แล้วแต่มุมมอง

’ทัศนคติของบัณฑิตสิ่งนี้มีความสำคัญควรปลูกฝังเยาวชนให้มีเป้าหมายในชีวิต สู้ชีวิต ซึ่งหากพบความต้องการในชีวิตแล้ว มีความมุ่งมั่นมานะพยายามไปให้ถึงก็จะประสบความสำเร็จได้และเมื่อจบการศึกษาการมีงานทำถือเป็นเกียรติศักดิ์ศรี สิ่งนี้ควรจะส่งเสริมปลูกฝังยกย่อง สร้างทัศนคติค่านิยมให้มองเห็นคุณค่าของการทำงานกันยิ่งขึ้น“

ขณะที่การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญควรมีเป้าหมายรู้จักตนเองว่ามีความต้องการอะไร การค้นเจอตนเองเร็วก็จะยิ่งไปถึงสิ่งที่มุ่งหวังประสบความสำเร็จ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้ปกครองสามารถเป็นแรงเสริมสนับสนุนให้กับเด็ก ๆ ได้

แต่อย่างไรแล้วไม่ว่าจะเรียนอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเชื่อมั่น มีเป้าหมายในชีวิตซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นทางออกที่จะไม่ทำให้เคว้งคว้าง ไม่มีงานทำ นอกจากนี้ในการรองรับนักศึกษาที่จะจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน กรมการจัดหางานได้เตรียมจัดวันนัดพบแรงงานโดยปีนี้ในกรุงเทพมหานครจะมีขึ้นที่กระทรวงแรงงานในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่นักศึกษาจบการศึกษา

ขณะเดียวกันกรมการจัดหางานยังมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดอยู่ทั่วประเทศผู้ที่ประสงค์ทำงานก็สามารถสมัครได้โดยมีอีกหลายตำแหน่งที่รอรับอยู่ อีกทั้งมีการฝึกอบรมระยะสั้นหลายหลักสูตรเพื่อเติมต่อทักษะประสบการณ์ ฯลฯ

ส่วนทางด้านอาชีพอิสระจะเห็นว่าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตามคงต้องมีความเชี่ยวชาญและการจะได้งานทำหรือก้าวเดินในชีวิตการทำงานอย่างมั่นใจไม่สะดุดนั้นทั้งหมดนี้เริ่มได้จากตัวเอง ค้นเจอในสิ่งที่ถนัดสนใจ เด็ดเดี่ยวในการสร้างความสำเร็จให้กับตนเองและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติใดก็สามารถผ่านพ้นไปด้วยดีได้ในที่สุด.

6 ข้อไม่ควรปฏิบัติในการสัมภาษณ์งาน

ก่อนสัมภาษณ์จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องตรงต่อเวลานัดหมาย โดยควรไปถึงสถานที่สัมภาษณ์ก่อนเวลานัดหมายประมาณ 10-15 นาที ควรเตรียมข้อมูลทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลตำแหน่งงานและหน่วยงานที่จะไปสมัครรวมถึงความรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่หลากคำถามที่ปรากฏในใบสมัครอาจกลายเป็นข้อสัมภาษณ์ดังนั้นควรกรอกตามความเป็นจริง ส่วนสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในการสัมภาษณ์นั้น 1. ไม่ควรรับนัดสัมภาษณ์วันละหลาย ๆ แห่งเพราะอาจเกิดเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถไปได้หรือเกิดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย 2. ไม่ควรนำพ่อ แม่และเพื่อนไปสัมภาษณ์ด้วย เพราะผู้สัมภาษณ์อาจมีความรู้สึกว่าผู้สมัครไม่มีความมั่นใจในตัวเอง 3. ไม่ควรแสดงอาการประหม่า หากตื่นเต้นควรสูดหายใจลึก ๆ ทำใจให้สบาย 4. ไม่ควรสวมแว่นกันแดด 5. ไม่ควรแสดงอาการกระตือรือร้นว่าอยากได้งานจนไม่เหมาะสม พึงนึกเสมอว่าเรามีข้อดีจนงานต้องการเราไม่ใช่เราต้องการงานเพียงฝ่ายเดียว และ 6. ไม่ควรแย่งพูดขณะตั้งคำถามและไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นจริง.

ทีมวาไรตี้
ที่มา เดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก