'แอพ มือถือ' ทางรอดศึกค้าปลีกออนไลน์

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมค้าปลีกบนโลกออนไลน์ ทำให้เหล่าห้างสรรพสินค้าในสหรัฐ ตั้งต้นทดลองโปรแกรมประยุกต์หรือแอพพลิเคชั่น บนมือถือ ที่จะช่วยให้เหล่าผู้บริโภค รู้เส้นทางไปยังร้านค้า และสถานที่ที่จอดรถไว้ นอกเหนือไปจากการค้นหาสินค้าลดราคา หรือการเสนอส่วนลดพิเศษให้

ไซมอน พรอพเพอร์ตี้ กรุ๊ป อิงค์ เจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่สุดในสหรัฐ นำเสนอแอพพลิเคชั่นของรางวัลจาก ช็อปคิก อิงค์ ให้กับลูกค้าตามสาขาต่างๆ ราวครึ่งหนึ่งของสาขาที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมด 338 แห่ง พร้อมเดินหน้าพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตัวเอง เพื่อนำเสนอส่วนลดสำหรับกลุ่มห้างในเครือด้วย
ขณะที่ เวสต์ฟิลด์ กรุ๊ป ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าอีกรายหนึ่ง เปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถนำมาใช้บริการได้เกือบทุกสาขาของบริษัท ที่มีสาขาอยู่ในสหรัฐทั้งหมด 55 แห่ง ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ส่วน กลิมเคอร์ เรียลตี้ ทรัสต์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าอีกรายหนึ่ง กำลังหารือถึงเรื่องแอพพลิเคชั่นในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งบริษัทหวังที่จะเปิดตัวได้ในช่วงเวลาเปิดเทอมใหม่กลางปีนี้

ความพยายามของอุตสาหกรรมนี้ จัดได้ว่าเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะไม่มีรายใด ที่ประสบความสำเร็จเต็ม 100% ในการป้องกันไม่ให้สูญเสียลูกค้าไปให้กับผู้ค้าปลีกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เหล่าเจ้าของห้างสรรพสินค้า ต่างมองแอพดังกล่าว เป็นเหมือนเครื่องมือแห่งความหวัง ในช่วงเวลาที่นักช้อปทั้งหลาย พากันหันหาคำปรึกษาจากอุปกรณ์มือถือ อย่างไอโฟน ของแอ๊ปเปิ้ล เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวซื้อของมากขึ้น

ปัจจุบัน แอพของห้างสรรพสินค้า ทำงานได้เพียงแค่ช่วยให้นักจับจ่ายทั้งหลาย จำสถานที่ที่ตัวเองจอดรถไว้ได้ พร้อมจัดหารายละเอียดสินค้าของร้านต่างๆ และโปรแกรมภาพยนตร์ แต่ก็ยังมีบางแอพ ที่มอบข้อเสนอส่วนลด สำหรับการเข้าซื้อสินค้าในร้านที่กำหนดไว้

กระนั้นก็ตาม เจ้าของห้างสรรพสินค้าบางส่วน เชื่อว่า จะสามารถพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ที่ทำงานได้มากกว่านี้

ในการประชุมที่ซิตี้กรุ๊ป เมื่อเร็วๆ นี้ เดวิด ไซมอน ประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ไซมอน พรอพเพอร์ตี้ ระบุว่า ต้องการที่จะให้ห้างสรรพสินค้าของตัวเอง แข่งขันกับกรูปอง อิงค์ ผู้จัดทำเว็บไซต์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา จากการทำข้อตกลงซื้อสินค้าในแต่ละวัน

เว็บไซต์ดังกล่าวใช้อีเมลเพื่อโฆษณาสินค้าลดราคาประเภทต่างๆ โดยนักซื้อมักจะต้องเข้าไปใช้บริการหนึ่งในร้านค้าปลีก ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อแลกคูปองที่ซื้อมา

"สิ่งที่ผมคิดอยากจะคิดให้ออก ก็คือ วิธีการที่จะสร้างห้างออนไลน์ ผ่านทางการเข้าซื้อกิจการ หรือก่อตั้งขึ้นมาใหม่ โดยจะต้องเป็นการนำเสนอโปรแกรมสำหรับสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของห้างสรรพสินค้า ที่มีผู้ค้าปลีกเป็นส่วนหนึ่งของห้าง ซึ่งในการที่จะทำอย่างนี้ได้ อาจลงเอยด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัทด้านเทคโนโลยีสักรายหนึ่ง" ไซมอนกล่าว

แม้จะไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ แต่ผู้บริหารของไซมอน พรอพเพอร์ตี้ เผยในภายหลังว่า บริษัทที่มีฐานการดำเนินงานอยู่ที่อินเดียแนโพลิสรายนี้ ตั้งเป้าที่จะคิดค้นแผนการสำหรับโครงการใหม่ออกมาในอีก 6 เดือนข้างหน้า หลังเมื่อปีที่แล้ว บริษัทเพิ่งดึงกลุ่มการตลาดดิจิทัล นำโดยแพทริค ดับเบิลยู แฟลนาแกน ผู้เชี่ยวชาญจาก แอคเซนเจอร์ บริษัทที่ปรึกษา และ ช็อปโลคัล ดอท คอม เข้ามารับผิดชอบความพยายามในด้านแอพพลิเคชั่นมือถือ และการเคลื่อนไหวอื่นๆ ในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น ที่มุ่งเป้ากลุ่มห้างสรรพสินค้า ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงเวลาที่ห้างต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา

ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช บริษัทด้านการวิจัย ชี้ว่า แม้ยอดขายของผู้ค้าปลีกออนไลน์ จะคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับยอดค้าปลีกโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรม แต่ก็มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการเติบโตถึง 12.6% เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าราว 176,200 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 10% จนถึงปี 2558

ในทางกลับกัน ยอดขายของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ไม่รวมน้ำมัน และรถยนต์ ขยับขึ้นเพียง 3.7% มาอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐ ประเมินว่า ในปีนี้ ยอดขายของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม จะขยายตัว 4% มาอยู่ที่ 2.47 ล้านล้านดอลลาร์

ตัวเลขดังกล่าว ทำให้มีการจับตามองว่า แอพพลิเคชั่นมือถือจะช่วยชะลอหายนะภัยของบรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งหลายเอาไว้ได้หรือไม่

ช็อปคิก ซึ่งเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้าของไซมอน พรอพเพอร์ตี้จำนวน 161 สาขา ถือเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นมือถือแถวหน้า ในด้านการจับจ่ายใช้สอย ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน โดยบรรดาเจ้าของห้าง และผู้ค้าปลีกอีก 7 ราย รวมถึง ทาร์เก็ต คอร์ป และอเมริกัน อีเกิล เอาท์ฟิตเตอร์ อิงค์ ต่างทำข้อตกลงที่จะให้ของรางวัลผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่ให้ใช้งานแบบไม่คิดเงินรายนี้

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นช็อปคิก จะได้รับแต้มสะสมราว 60-150 แต้ม สำหรับการเดินเข้าไปในร้านค้าที่ร่วมรายการ และเมื่อสะสมได้ครบ 875 แต้ม ก็สามารถนำไปแลกของรางวัลเป็นบัตรกำนัลมูลค่า 25 ดอลลาร์ จากร้านค้าที่ร่วมรายการ

เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ไซมอน พรอพเพอร์ตี้ ก็เปิดตัวแอพพลิเคชั่นมือถือที่พัฒนาขึ้นมาเอง โดยจะแสดงรายการส่งเสริมการขายของร้านค้ารายต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า อีเวนท์ที่เตรียมจะจัดขึ้น และให้ความช่วยเหลือลูกค้า ในเรื่องการเตือนความจำถึงจุดที่รถจอดอยู่ภายในลานจอดรถ

ขณะที่เวสต์ฟิลด์ กรุ๊ป กลุ่มห้างสรรพสินค้าสัญชาติออสเตรเลีย นำเสนอแอพพลิเคลั่นแบบไม่คิดค่าบริการ ทำงานผ่านไอโฟนเมื่อปีที่แล้ว และขยายให้ครอบคลุมถึงเครื่องแบล็คเบอร์รี ของ รีเสิร์ช อิน โมชั่น (อาร์ไอเอ็ม) เมื่อเดือนที่ผ่านมา

แอพพลิเคชั่นที่เวสต์ฟิลด์ ร่วมมือกับ ซิมพลิเคท ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นมือถือ พัฒนาขึ้นมานี้ จะให้รายละเอียดของที่ตั้งร้านค้าภายในห้าง จุดจอดรถ และตารางฉายภาพยนตร์ นอกเหนือไปจากการเปิดทางให้ลูกค้าจัดทำรายการของที่ต้องการซื้อ

เวสต์ฟิลด์ เผยด้วยว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว อยากพัฒนาให้แอพมือถือของตัวเอง มีรายการค้นหาสินค้า และบอกพิกัดที่ลูกค้ายืนอยู่ในขณะนั้น

เดวิด ทาวเวอร์ส รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจดิจิทัล ของเวสต์ฟิลด์ ปฏิเสธที่จะให้ตัวเลขที่แน่นอนของผู้ใช้บริการแอพมือถือ กล่าวแต่ว่า บริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่นตัวนี้ขึ้นมา สำหรับการใช้งานในวงกว้าง

อย่างไรก็ดี ซูชาริตา มัลปูรุ จากบริษัทวิจัยฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช ระบุว่า ตามความเป็นจริงแล้ว แอพมือถือประเภทดังกล่าว ยังมีฐานลูกค้าขนาดเล็กอยู่ และการที่มีผู้ใช้จำนวนน้อย ก็จะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสร้างธุรกิจเฉพาะด้านนี้ขึ้นมา

ที่มาโดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลังบทความของบล็อก