ร่ายมนต์เปลี่ยนจากชอบ เป็นช้อป

วันนี้ความหมายของคำว่า "โซเชียล" เริ่มขยายอาณาเขตจากเดิม จาก "สถานที่" ที่เป็นชุมชนออนไลน์ กลายเป็น "เพื่อนและกลุ่มเพื่อน"
จากที่ได้กล่าวถึงแนวโน้ม 8 เทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในปี 2554 ของไทย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ทุกเทรนด์ได้ปรากฏขึ้นและตอบรับกับความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ตามคาดการณ์ สร้างสีสันให้กับนักการตลาดมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะเทรนด์เกี่ยวกับ “อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ” และ “ออนไลน์โปรโมชั่น”

ในระยะหลังมีการพูดถึงโซเชียลคอมเมิร์ซ และการใช้ออนไลน์โปรโมชั่นกันอย่างแพร่หลายทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในลักษณะของโซเชียล ดิสเคาท์, ข้อตกลงวันเดียว (One-day Deal) หรือข้อตกลงออนไลน์ (Cyber Deal) บนเฟซบุ๊คของแบรนด์ต่างๆ เลยจะขอยกมาคุยกันอีกครั้ง
นิยามใหม่โซเชียล

วันนี้ความหมายของคำว่า "โซเชียล" เริ่มขยายอาณาเขตจากเดิม จาก "สถานที่" ที่เป็นชุมชนออนไลน์ กลายเป็น "เพื่อนและกลุ่มเพื่อน" อาจรวมถึง "คนที่ชอบ" หรือ "แบรนด์ที่ชอบ" และยังรวมถึง "พฤติกรรม" ของการแชร์ แบ่งปันกันด้วยการให้คำแนะนำและการสนทนา

โซเชียลคอมเมิร์ซ คือ การใช้โซเชียลให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อ หรือการซื้อที่มีเพื่อนช่วยตัดสินใจ ตัวอย่างของการใช้โซเชียลเพื่อสร้างแรงจูงใจ จะเห็นได้จาก Levi’s Friends Store (http://store.levi.com/) ที่ใช้การ “Like” เป็นเรทติ้งสร้างแรงดึงดูดจูงใจให้ซื้อเสื้อผ้ารุ่นนั้นๆ และให้เราอ่านคอมเมนท์สินค้าของเพื่อน หรือเขียนคอมเมนท์ให้เพื่อนอ่าน

ในเชิงเทคนิคแล้วเป็นการติดตั้ง Facebook Social Plugins ในเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับหน้าเฟซบุ๊คของแบรนด์สินค้า เพื่อให้ใช้ฟังก์ชันบางอย่างของเฟซบุ๊คในเว็บไซต์ได้ การใช้ Facebook Social Plugins เช่น Like Button, Share, Comment และ Live Stream ช่วยสร้างกระแสและเพิ่มสีสันการตลาดให้กับออนไลน์แคมเปญ และกิจกรรมในเฟซบุ๊คเกือบทุกธุรกิจ ในขณะนี้
เอฟคอมเมิร์ซกับกระแส Tryvertising

อีกกระแสหนึ่งที่กำลังมาแรงและเป็นที่จับตามองของนักการตลาดคงหนีไม่พ้นเรื่องอีคอมเมิร์ซ แต่เป็นอีคอมเมิร์ซที่ใช้งานในเฟซบุ๊ค ที่เรียกเป็น Buzz ในขณะนี้ว่า “เอฟคอมเมิร์ซ” หรือ “เอฟสโตร์”

ร้านค้าและแบรนด์เริ่มติดตั้งอีคอมเมิร์ซกันที่เฟซบุ๊คของตน เพื่อใช้ฐานของจำนวนแฟนในเฟซบุ๊คในการขายสินค้าให้แก่แฟนๆ เช่น Apple App Store, Lady Gaga f-store, Starbucks Gift Card หรือ Coca-Cola Store

นอกจากอาศัยเป็นจุดจำหน่ายสินค้าผ่านเอฟคอมเมิร์ซแล้ว ยังพบว่าแบรนด์อย่างซอสมะเขือเทศไฮนส์ (Heinz) รุกตลาดโดยการประชาสัมพันธ์สินค้าในลักษณะ Tryvertising ผ่านเฟซบุ๊ค ด้วยการปล่อยไฮนส์รสชาติใหม่แก่แฟนๆ ก่อนการขายจริงในท้องตลาด เพื่อให้แฟนพันธุ์แท้ได้ทดลองสินค้าก่อนใคร ทำให้เกิดการพูดถึงปากต่อปาก (Word of Mouth) จากกลุ่มแฟนในเฟซบุ๊ค กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการประชาสัมพันธ์สินค้าโดยผ่านผู้บริโภคตัวจริงนั่นเอง

อย่างไรก็ตามนักการตลาดในต่างประเทศก็ยังมีข้อสังเกตต่อผลตอบรับทางธุรกิจของเอฟคอมเมิร์ซที่ว่า เพราะค่าใช้จ่ายของสื่อเฟซบุ๊คที่สูงขึ้นทำให้ประสิทธิภาพของเฟซบุ๊คต่อการสร้างยอดขายลดลง โดยนักการตลาดบางส่วนมีความเห็นว่าเฟซบุ๊คเป็นสื่อที่เหมาะสำหรับการดูแลลูกค้า การสร้างแบรนด์ หรือการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกมากกว่าการที่จะมาช่วยสร้างยอดขายให้กับธุรกิจโดยตรงเหมือนระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์
จับกระแสแปรเป็นโอกาสให้ทัน

สำหรับนักการตลาดบ้านเราแล้ว การอินทริเกตเครื่องมือใหม่ๆ บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเข้ากับกลยุทธ์ด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เพื่อจับกระแสนิยมหรือทดสอบพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถ้ามีความพร้อมทั้งในเชิงกลยุทธ์และเทคโนโลยีที่เป็นระบบสนับสนุน แล้วอาศัยเครื่องมือนี้ทำการตลาด ไม่แน่ว่าอาจเปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้กับแบรนด์ของเราอย่างไม่คาดคิดก็เป็นได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

คลังบทความของบล็อก