นิวมีเดีย : "แอ๊ปเปิ้ล - กูเกิล - เฟซบุ๊ค" พลิกโลก ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง

"สิ่งที่น่าจับตานับจากนี้ คือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล และเฟซบุ๊ค จะเป็นออนไลน์ แอดเวอร์ไทซิ่ง และมาร์เก็ต แพลตฟอร์ม ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ส่งผลให้การวางแผนบริหารสื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากเดิม และทวีความเข้มข้นมากขึ้น"
นี่เป็นหนึ่งใน 8 เทรนด์สำคัญของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ปี 2554 ที่ "อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด อินเตอร์
แอคทีฟเอเยนซีไทย ประเมินไว้ พร้อมทั้งบอกว่า ทั้ง 3 บริษัทนี้จะเป็นตัวพลิกโฉมหน้าการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่สำคัญ และจะพลิกรูปแบบการเข้าถึงสินค้า บริการของกลุ่มคอนซูเมอร์ทั่วโลกในอนาคต

อุไรพร บอกว่า ปัจจุบันแนวโน้มดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งของไทยยังคึกคักต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรที่อยู่บนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีพฤติกรรมการหาข้อมูล และเลือกซื้อสินค้าโดยใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นผู้ช่วยตัดสินใจ ก่อนที่จะซื้อ โดยใช้ช่องทาง "อีคอมเมิร์ซ" ที่มีเทคโนโลยี และเครื่องมือรองรับเต็มที่ หนุนให้ช่องทางการสื่อสารอินเตอร์แอคทีฟช่วยเร่งยอดขายและสร้างแบรนด์ของสินค้า และบริการได้จริง

"ปีหน้าดิฉันเชื่อว่า จะเป็นปีแห่งการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ออนไลน์มากขึ้น และด้วยเทรนด์ของแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมถึงความฮอตของโซเชียลเน็ตเวิร์คจะทำให้นักการตลาดต้องแบ่งสัดส่วนงบประมาณสำหรับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งแบบครบวงจร เป็น 2-10% ของงบการตลาดขององค์กรปี 2554 ขณะที่มูลค่าสื่อออนไลน์หรือดิจิทัล มีเดีย น่าจะมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 2% หรือประมาณ 2 พันล้านบาท ของมูลค่าสื่อโดยรวมที่ประเมินว่าจะอยู่ระดับแสนล้านบาท"

ปัจจุบัน โซเชียล เน็ตเวิร์คที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุดยังเป็นเฟซบุ๊ค ด้วยจำนวนสมาชิกคนไทยกว่า 6.1 ล้านคน จากการศึกษา พบว่า สมาชิกอยู่ช่วงอายุ 18-24 ปี 40% และ 25-34 ปี 35% โดยคนไทยเข้าไปใช้งานเฟซบุ๊ค 2.2 ล้านคน ยูทูบ 1.2 ล้านคน และทวิตเตอร์ 90,000 คนต่อวัน นั่นหมายถึง ช่องทางการสื่อสารที่ท้าทายนักการตลาด และจำเป็นต้องศึกษาและวางกลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่จริงจังมากขึ้น รวมทั้งต้องก้าวตามเทคโนโลยีและตัดสินใจเลือกใช้ให้เหมาะสมทันท่วงที ขณะที่ต้องคำนึงถึงผลต่อแบรนด์หรือองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย

เปิด8เทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งปี54

จากนี้ต่อไป คือ 8 เทรนด์ใหม่ และกลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่จะเป็นกุญแจสำคัญพลิกโฉมการทำการตลาดรูปแบบใหม่ ที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก

1.กลยุทธ์ออนไลน์ผสมผสานโซเชียลมีเดียอย่างฉลาด (Digital Strategy and Social Media Integration) หรือการผสมผสานดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง และโซเชียล มีเดียเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร โครงสร้างนี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจออนไลน์เทคนิคต่างๆ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงผลทางการตลาด และติดตามได้ง่าย เป็นการขยายขอบข่ายในดิจิทัล สเปซ เพื่อให้การทำตลาดได้ผลสำเร็จสูงสุด นอกเหนือจากการสร้างเว็บไซต์แนะนำสินค้า สร้างแฟนเพจเฟซบุ๊ค หรือสร้างแอคเคาท์ทวิตเตอร์ นักการตลาดควรต้องคิดว่า ทำอย่างไรถึงให้ช่องทางที่สร้างขึ้นเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงและทำการตลาดร่วมกันได้ ต้องนำไปสู่การครีเอทแคมเปญใหม่ๆ ได้

2. เฟซบุ๊ค ช่องทางสื่อสารที่เนื้อหอม เมื่อเฟซบุ๊คเปรียบเสมือนสมรภูมิที่มีอิทธิพลสำหรับนักการตลาด เพราะความนิยมใช้เป็นทั้งช่องทางโฆษณา และการตลาด แบรนด์จากทั่วทุกมุมโลกยังคงแข่งขันกันด้วยจำนวนแฟนบนเฟซบุ๊คผู้บริหารควรวิเคราะห์การวัดผล และวางกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับแฟนพันธุ์แท้ที่เป็นลูกค้าตัวจริง อีกทั้งต้องมีมาตรการคัดสรรและสื่อสารกับลูกค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าจำนวน

ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามเสมอ คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ใช่ของฟรี หรือของดีราคาถูก ยิ่งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมากขึ้นของเฟซบุ๊คอย่างเฟซบุ๊ค ช้อป หรือเฟซบุ๊ค เมสเสจจิ้งและอีกมากมายที่กำลังจะปรากฏออกมาเร็วๆ นี้ ย่อมหมายถึง สื่อทรงพลังนี้จำเป็นต้องมีคนมาดูแลบริหารจัดการรับมือและโต้ตอบกับผู้คนที่เข้ามาได้อย่างมืออาชีพในทุกๆ ด้านและตลอดเวลา

3.แบรนด์ เอ็นเกจเมนท์ (Brand Engagement) หรือพลังมัดใจสร้างแฟนพันธุ์แท้ นักการตลาดต้องทำงานหนักเพื่อผูกใจกลุ่มเป้าหมายให้สนใจติดตาม และจดจำแบรนด์ได้มากกว่าคู่แข่ง ด้วยกลยุทธ์ที่แยบยล โดนใจ เข้าถึง ดึงดูดและต่อเนื่องกับผู้บริโภคผ่านทางการตลาดออนไลน์ การสร้างแคมเปญไมโคร ไซต์ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถูกใจ และให้ความบันเทิง จะสามารถสร้างความรู้สึกดีๆ ที่จะนำไปสู่แรงผลักดันการตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด โดยปีหน้าเทรนด์สำคัญที่จะมาแรง นักการตลาดจะหันมาใช้วีดิโอออนไลน์ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น

"เราจะเห็นฟีเจอร์บนโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทสร้างแบรนด์ เอ็นเกจเมนท์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียหลักอย่างเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ที่พัฒนาฟังก์ชันกันอย่างไม่หยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นการแนบภาพ การแนบวีดิโอโฆษณาสินค้า บริการ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์นักการตลาดได้"

4.อีคอมเมิร์ซ และ โซเชียลคอมเมิร์ซมาแรง แน่นอนว่าการค้าปลีกออนไลน์ รีเทล อี-คอมเมิร์ซ และการค้าบนเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ จะมาแรง ถือได้ว่าปีหน้าจะเป็นปีคิก-ออฟของร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ของไทย และจำนวนของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมั่นใจกับการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มีมากขึ้น นับเป็นช่องทางที่เป็นยุทธศาสตร์การแข่งขันที่น่าจับตามอง เพราะการปิดการขายและชำระเงินได้ทันทีย่อมเป็นเป้าหมายในฝันของธุรกิจส่วนใหญ่

"เจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรูปแบบต่างๆ จึงต้องมีความสามารถเรื่องการพัฒนาช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าของตัวเองผ่านช่องทางต่างๆ ได้ง่าย ตอบโจทย์การบริหารจัดการและวางแผนการขาย การสต็อกสินค้า และการขนส่งที่แม่นยำ รวมถึงการให้ความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้ ขณะเดียวกันเราจะเห็นร้านค้าออนไลน์แบบโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่เข้ามาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น"

5.พลิกโฉมออนไลน์โปรโมชั่น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสีสันมากขึ้น เมื่อนักการตลาดที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมารุกตลาดเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ อย่าง "Collective Buying Power" ที่นำโดยโซเชียล ดิสเคาท์ (Social Discount) ที่เกิดขึ้นในแคมเปญต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของแบรนด์ที่ตอบสนองพลังการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคได้

นอกจากนี้การทำออนไลน์โปรโมชั่นปีหน้าสำหรับร้านค้าออนไลน์จะทวีความเข้มข้น เนื่องจากมีทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาแชร์พื้นที่ จะได้เห็นความถี่ในการทำโปรโมชั่นประเภท one-day-deal, weekend deal, friend & family deal มากขึ้น สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่พัฒนาระบบฐานข้อมูลซีอาร์เอ็มอย่างเป็นระบบ จะได้เปรียบในการสร้างโปรโมชั่นเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละราย (Personalized Deal)

6.สมาร์ทโฟน ไอแพด แทบเล็ต ตัวสร้างประสบการณ์รับรู้ มีอิทธิพลในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานและการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างคาดเดาได้ยาก นักการตลาดจึงต้องเข้าใจ และเลือกใช้เทคนิคการสื่อสารและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อทำการตลาดอย่างประชิดติดตัวแก่ผู้บริโภค

7. แบรนด์เพิ่มการลงทุนสร้างแอพพลิเคชั่น แนวโน้มนี้ จะพบว่า แบรนด์พากันทุ่มเทงบประมาณมากขึ้นในการสร้างสรรค์แอพ (แอพพลิเคชั่น) บนอุปกรณ์ดีไวซ์ใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเน้นลักษณะของแอพฯ ที่มีเป้าหมายการใช้งานต่างกันมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน

ยกตัวอย่าง เช่น รูปแบบของคอมเมอร์เชียล แอพ ทำหน้าที่อัพเดทข้อมูลด้วยการส่งตรงไปยังผู้บริโภค โดยเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลบนเว็บไซต์, อี-แม็กกาซีน อี-แคตตาล็อก ที่ใช้ลักษณะเด่นของสื่ออินเตอร์แอคทีฟ และริช มีเดีย คอนเทนท์ ทำให้เนื้อหาน่าประทับใจชวนติดตาม, ชอปปิง แอพ และจีโอ-โลเคชัน แอพ ที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด รวมไปถึงโซเชียล โมบายเกม แอพที่ได้เปรียบในความนิยมของเกมและบันเทิงที่เข้าถึงได้กับทุกกลุ่ม

และ 8.จับตามอง 3 ยักษ์ใหญ่ Google-Apple-FaceBook จะเป็นออนไลน์ แอดเวอร์ไทซิ่ง และมาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์มาตอบสนองความต้องการไม่รู้จบของประชากรบนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด การวางแผนบริหารสื่อ (Media Strategy & Planning) จะต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากเดิมและทวีความเข้มข้นมากขึ้น การอัพเดทความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและการเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นสิ่งท้าทายของนักการตลาดเป็นอย่างมาก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

คลังบทความของบล็อก