โลกเตรียมรับมือเศรษฐกิจสหรัฐจ่อถดถอยซ้ำซ้อน

โลกได้รับผลกระทบทั่วหน้ากันทันทีที่รู้ว่าตลาดหุ้นวอลสตรีตของสหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ดิ่งร่วงลงเหวอย่างรุนแรงและร้ายแรงที่สุดในการเปิดตลาดซื้อขายตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 เห็นได้จากสถานการณ์ตลาดหุ้นในเอเชียและในยุโรปปรับตัวร่วงลงตามตลาดหุ้นของสหรัฐ ราวกับโดนฉุดให้ร่วงตามๆ กัน

ความปั่นป่วนดังกล่าว เป็นผลมาจากอาการหวาดผวาของบรรดานักลงทุนและนักเก็งกำไรทั้งหลาย ที่เริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นต่อพี่เบิ้มของโลกอย่างสหรัฐ ว่าจะมีปัญญาจัดการปัญหาหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมีเสถียรภาพอีกครั้งได้หรือไม่
เพราะสัญญาณตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐหลายประการได้เริ่มสำแดงอาการเตือนแล้วว่า เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน (Double dip recession)

หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เศรษฐกิจของสหรัฐไม่เคยกระเตื้องขึ้นเลยจากภาวะวิกฤตเมื่อปี 2551 ตามที่นักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญบางสำนักได้ระบุกันไว้

สัญญาณของภาวะถดถอยซ้ำซ้อนของสหรัฐที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดตัวแรกก็คือ อัตราเงินเฟ้อ โดยตัวเลขเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เมื่อปี 2553 มาอยู่ที่ 3.6% ในเดือน ก.ค. 2554 นับเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน

ทว่าสิ่งที่สาหัสกว่านั้น ก็คือ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หมายถึง ราคาข้าวของที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดการใช้จ่ายลง

ทั้งนี้ ราคาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันภายในสหรัฐเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 21.84% ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 24.92% ในเดือน มิ.ย. หรือเพิ่มมากขึ้นกว่า 14% ขณะที่ราคาข้าวโพดปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอยู่ที่ 265.29% มาอยู่ที่ 310.54% ในเดือนมิ.ย.

ด้านสัญญาณอันดับสอง ที่นักวิเคราะห์มองเห็นก็คือ การลดลงของการลงทุนในตลาดหุ้น

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ที่บรรดานักวิเคราะห์ฟันธงว่าวิกฤตสหรัฐสิ้นสุดลงแล้วนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่ดำดิ่งเหลือ 7,000 จุด ในเดือน มี.ค. 2552 ก่อนไต่อันดับพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 1.2 หมื่นจุดภายในปีเดียวกัน พร้อมกับพาดัชนีหุ้นตัวอื่นในตลาดให้ได้รับอานิสงส์กันทั่วหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาเทียบกับสถานการณ์ของดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ในปี 2554 ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ดัชนีดังกล่าวเพิ่มเพียง 1% เท่านั้น ก่อนที่จะทรุดฮวบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สัญญาณลำดับที่สาม ก็คือภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประชาชนในสหรัฐ โดยตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้เป็นต้นมา ยอดขายรถยนต์ของสองค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส และฟอร์ด กลับชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2553 จนเป็นเหตุให้ชาวอเมริกันบางส่วนเริ่มหวั่นใจกับสถานะทางการเงินในอนาคตของตนเอง

เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้งช่วงก่อนและระหว่างที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อคราวที่แล้ว ยอดขายของรถยนต์ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน และค่ายผู้ผลิตรถยนต์ก็เลือกที่จะเลย์ออฟพนักงานออกเป็นจำนวนมาก เพื่อประคับประคองบริษัทให้อยู่รอด

สัญญาณอันดับที่สี่ ก็คือราคาน้ำมันที่จะปรับลดลงเสมอเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเมื่อปี 2551 ราคาน้ำมันดิบไนเมกซ์ในตลาดนิวยอร์กร่วงจาก 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2552 ขณะที่ราคาน้ำมันไนเมกซ์ปัจจุบันเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ลดลงมาอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 79.36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น และยังมีทีท่าว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิม

ส่วนสัญญาณอันดับที่ห้า ก็คือการขาดดุลงบประมาณอย่างมโหฬารของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้แผนการจำเป็นสำหรับสหรัฐเพื่อทำให้ประเทศฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง พอล ครูกแมนแนะนำมีอันต้องพังทลายยับเยิน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลกลางยังต้องรัดเข็มขัด ตัดลดค่าใช้จ่ายอีกมหาศาล ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการปิดยุบสำนักงานของรัฐบาล และทำให้ผู้คนต้องตกงานกว่า 4.5 แสนคน

สัญญาณอันดับที่หก ถือเป็นปัจจัยต่อเนื่องมาจากสัญญาณที่ห้า นั่นก็คือ อัตราการว่างงานของประชาชนสหรัฐภายในประเทศ โดยแม้ว่าตัวเลขผู้ว่างงานในปัจจุบันจะลดลง แต่ก็ลดลงจาก 9.2% ในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 9.1% ในเดือน ก.ค.เท่านั้น หรืออาจจะเรียกได้ว่าแทบจะไม่ลดลงเลย

ทั้งนี้ ตัวเลขการว่างงานดังกล่าวนับเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็น 2 ปัญหาหลักก็คือ หนึ่ง หากคนตกงานก็จะไม่ใช้เงินซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่ตัวเลขคนตกงานที่สูงลิ่วจะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลเข้าช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่รัฐบาลต้องตัดลดงบประมาณเพื่อลดการขาดดุลก็ตาม

สัญญาณอันดับที่เจ็ด ก็คือปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่แม้ในที่สุด สภาคองเกรสสามารถผ่านข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ได้อย่างฉิวเฉียด แต่นั่นเท่ากับว่า หนี้ที่สหรัฐมีอยู่เดิมกว่า 14.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะเพิ่มขึ้นอีก และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า หากรัฐบาลต้องลดหนี้ ทางหนึ่งก็คือการเพิ่มภาษีควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย แต่ทว่า การเพิ่มภาษีในปัจจุบัน จะไม่เป็นผลดีกับธุรกิจภายในประเทศของสหรัฐที่ผลกำไรเริ่มลดลงแม้ว่า รัฐบาลจะยกเว้นภาษีให้แล้วก็ตาม เพราะต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น และการใช้จ่ายในประเทศลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้จะหวังพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็ไม่ได้เป็นหนทางที่สวยหรูตามที่ฝันเสมอไป และนับเป็นสัญญาณเตือนอันดับที่แปด นั่นก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากนโยบายแทรกแซงค่าเงินของรัฐบาลจีน เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศจีน

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน ก.ค. ของจีนที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วไปอยู่ที่ 6.5% เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า จีนไม่อาจที่จะตอบสนองความคาดหวังของสหรัฐเหมือนเช่นที่เคยยื่นมือช่วยเหลือเมื่อปี 2551

สัญญาณเตือนลำดับที่เก้า ก็คือ ธนาคารทั้งหลายที่เริ่มจำกัดการให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยอาศัยการขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้ศูนย์ เนื่องจากหวาดวิตกว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจของสหรัฐที่เติบโตอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะแรงขับเคลื่อนจากกิจกรรมของบริษัทขนาดเล็กเป็นหลัก ยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หากบริษัทขาดสภาพคล่องเพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ประคองตัวต่อไปได้ ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมและเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น

สัญญาณเตือนอันดับสุดท้าย ก็คือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐที่ย่ำแย่ลงอย่างมากในช่วงปี 2554 นี้ ส่งผลให้บ้านหลายหลังที่ประชาชนคนธรรมดานำไปจำนองไว้กับธนาคารมีมูลค่าลดลงจนกระทบต่อสถานะสินเชื่อ และกระเทือนสภาพคล่องในกระเป๋าของครัวเรือน เพราะบ้านก็คือแหล่งเงินสำคัญของคนอเมริกันเพื่อไว้ใช้จ่ายสำหรับยามเกษียณ ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย หรือจับจ่ายใช้สอยสำหรับสินค้าราคาแพงอย่างรถยนต์

10 สัญญาณเตือนอันตรายส่งผลให้แม้ว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ จะขึ้นแท่นปราศรัยเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนให้กลับมา แต่น้ำคำของโอบามาดูจะไม่หนักแน่นอีกต่อไป เห็นได้จากปฏิกิริยาของตลาด เพราะดัชนีสำคัญอย่างดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์หล่นลงมาถึง 635 จุด หรือ 5.55% มาอยู่ที่ 10,810

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนภัยถึงภาวะถดถอยซ้ำซ้อนของสหรัฐก็เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่อีกเช่นกัน เพราะสหรัฐต้องหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากท่าทีล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประชุมหารือเร่งด่วนได้มีมติที่มีแนวโน้มค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า เฟดจะนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อย่างการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี 3) กลับมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอีกรอบแน่นอน ตามการคาดการณ์ของ เคนเนธ โรกอฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด

เท่ากับว่าไม่ช้าไม่นาน คิวอี 3 กำลังจะกลับมาหลอกหลอนโลกอีกครั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และโลกไม่มีทางเลือกใดๆ นอกจากจำต้องเตรียมตัวตั้งรับไว้ให้ดีเท่านั้น
ที่มาข้อมูล http://money.impaqmsn.com/content.aspx?id=27268&ch=222

คลังบทความของบล็อก