ต่างชาติแห่สำรวจเหมืองทอง

สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์
ราคาทองพุ่งดันทุนใหญ่จากออสเตรเลีย รุกสำรวจแหล่งแร่ทองคำในไทย "MATSA" ส่งบริษัทลูกยื่นขออาชญบัตรพิเศษสำรวจแหล่งทองคำในนครสวรรค์พื้นที่กว่า 260,000 ไร่ หลังนโยบายเหมืองทองชัด กพร. เผยยังมีอีกหลายกลุ่มเห่อเหมืองทองไทย แต่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม-ชุมชนเข้ม
นายวิเชียร ปลอดประดิษฐ์ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
 ขณะนี้มีกลุ่มทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยมีศักยภาพด้านแหล่งแร่ทองคำอยู่พอสมควร และล่าสุดมีความชัดเจนเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ดังนั้น จึงเริ่มมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาขออาชญบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำ อาทิ กลุ่ม MATSA RESOURCES ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ของออสเตรเลีย
นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า MATSA เป็นกลุ่มทุนใหม่จากออสเตรเลียที่แสดงความสนใจเข้ามาสำรวจและลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยนอกเหนือจากอัคราไมนิ่งและทุ่งคำซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามาดำเนินการอยู่นานแล้ว โดยก่อนหน้านี้ MATSA ในนามของบริษัท พีวีเค ไมนิ่ง จำกัด ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ได้ยื่นอาชญบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่เหล็กในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพของแหล่งแร่ทองคำ ประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ จึงให้ชะลอโครงการไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2554 จึงเปิดให้กลุ่มทุนดังกล่าวสามารถยื่นขออาชญบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแหล่งแร่ทองคำได้ โดย MATSA ได้เตรียมยื่นขอสำรวจแหล่งแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นเวลา 5 ปี รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 37 แปลง หรือประมาณ 260,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. หรือพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร บางส่วนเป็นพื้นที่เอกสิทธิ์ และพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการออกอาชญบัตรพิเศษและการสำรวจแร่
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ นักลงทุนจะต้องมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนว่า ในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนจำนวนเท่าใด และจะมีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางเงินค่าประกันการสำรวจเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่สำรวจให้กลับสู่สภาพเดิม ขั้นต้นประเมินว่าจะต้องวางเงินประมาณ 500,000 บาทต่อไร่ โดยผู้ลงทุนอาจใช้การวางประกันในรูปแบบแบงก์การันตีได้ และถ้าหากมีการฟื้นฟูพื้นที่สำรวจกลับสู่สภาพเดิมเป็นที่เรียบร้อยก็สามารถนำเงินประกันนี้กลับไปได้
ส่วนในขั้นตอนการขอประทานบัตรหรือการลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำนั้น ผู้ลงทุนจะต้องมีการตั้งกองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมและกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอชไอเอ ตามที่กฎหมายกำหนด
"ในการลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำนั้น เพียงแค่ขั้นตอนการสำรวจก็ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทแล้ว และถ้ามีการทำเหมืองเกิดขึ้นตามมาจริงจะใช้เงินลงทุนอีกหลายร้อยล้านบาท ทั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่ม MATSA แล้ว ยังมีกลุ่มทุนอื่นอีกหลายกลุ่มที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากออสเตรเลียและแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรมนี้ มีความพร้อมในการลงทุน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย"
อนึ่ง บริษัท MATSA RESOURCES เป็นบริษัทสำรวจและพัฒนาเหมืองแร่รายใหญ่ในประเทศออสเตรเลียฝั่งตะวันตก โดยมีเหมืองหลัก 4 แห่ง ได้แก่ เหมืองทอง Norseman, เหมืองทอง Broad Arrow, เหมืองทอง Vetters และเหมืองทอง Dunnsville สำหรับแผนงานในประเทศไทยนั้น MATSA ได้จดทะเบียนในนามบริษัท แมทสา (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 โดยแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ พร้อมกันนี้ในรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) ปี 2554 ของ MATSA ยังระบุว่าบริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ เหล็ก และทองแดงในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงมีบริษัทต่างๆ ทั้งจากจีน ไทย และชาติอื่นๆ ที่สนใจร่วมลงทุนในการสำรวจและพัฒนาเหมืองแห่งใหม่นี้
โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,658 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คลังบทความของบล็อก