แจ้งเกิดเครื่องดื่มสมุนไพรไทย บทพิสูจน์ฝีมือ "ตัน"

กลับ คืนสู่วงการอีกครั้งสำหรับ "ตัน ภาสกรนที" ผู้ปลุกปั้นชาเขียว "โออิชิ" จนโด่งดังและยอดขายถล่มทลาย แต่ครั้งนี้เขามาในนามของบริษัท ไม่ตัน จำกัด กับการเปิดตัวเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสไตล์ไทย ๆ ในชื่อ "ดับเบิ้ลดริ้งค์" หลังจากขายกิจการให้กับ "ไทยเบฟเวอเรจ" และวางมือจากธุรกิจเครื่องดื่มลงชั่วขณะ

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ "ตัน ภาสกรนที" ซีอีโอ บริษัท ไม่ตัน จำกัด ถึงการกลับเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มครั้งใหม่

มองการแข่งขันตลาดเครื่องดื่มในช่วงหน้าร้อนนี้ที่เป็นหน้าขายที่สำคัญอย่างไร

ยักษ์ ใหญ่ทั้งนั้น รายเล็กคงอยู่ไม่ได้แล้ว ตอนนี้แต่ละบริษัทก็ใหญ่ ๆ ทั้งนั้น พอร์ตโฟลิโอแต่ละคนก็โตขึ้นด้วย เหมือนกับผมเข้ามาตอนนี้จะเข้ามาเหมือนโออิชิไม่ได้แล้ว ตอนนั้นลองทำก่อนแล้วค่อยเพิ่ม นี่ผมลงทุนทีเดียวเลย คือลงทุนล่วงหน้าไป 5 ปีแล้ว

วันนี้ถ้าจะแข่งขัน เล็ก ๆ มันแข่งไม่ได้แล้ว ตลาดมันใหญ่มากแล้ว แต่ละคนก็เงินเยอะ ถ้าเราเล็ก ๆ มันยอดขายนิดหน่อย มันทำอะไรไม่ได้

ตอน นั้นลงทุนหลักร้อยกว่าล้าน (บาท) แต่ตอนนี้ลงทุน 20 เท่าของวันที่เริ่มต้นโออิชิ นี่ลงทุน 2,400 ล้านบาทสำหรับเฟสแรก เป็นการทำล่วงหน้าไว้ 5-10 ปีเลย

หลาย ๆ คนมองว่าการทำเครื่องดื่มแบบไทย ๆ น่าจะยาก

ก็ ยาก ถ้าทำแบบเดิม ๆ วิธีเดิม ๆ ที่ผ่านมาเคยมีพวกโอท็อปหรือเอสเอ็มอีทำอยู่บ้าง เช่น ทำน้ำตะไคร้ใส่ขวดขายตามหน้าบ้าน จะว่าไปแล้วตะไคร้อย่างเดียวมันไม่แข็งแรงพอสำหรับคนไทย เพราะคนไทยรู้จักตะไคร้มานานแล้ว จึงรู้สึกไม่ตื่นเต้น ถ้าย้อนกลับไปสมัยโออิชิ ตอนนั้นเราก็ดื่มชาในร้านสุกี้ หรือกินไข่ลวกก็มีชาให้ดื่ม เพียงแต่โออิชินำชาเขียวมาใส่ขวดเข้าไปใหม่ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม นี่เป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง

เหมือนกัน สมุนไพรวันนี้ผมไม่ได้เอาเรื่องของสมุนไพรมาอย่างเดียว ผมทำมาร์เก็ตติ้งด้วย และเป็นที่มาของชื่อและคอนเซ็ปต์ของ "ดับเบิ้ลดริ้งค์" คือจะต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่ม คือเอาสมุนไพรเพิ่มซูเปอร์ฟรุตเข้าไปเป็น 2 เท่า

ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่

ใช่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเครื่องดื่มลักษณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น หากมีคนอื่นทำไปแล้วและเราไปทำตาม ก็จะเหนื่อยหน่อย

อย่าง ไรก็ตาม ปีนี้เราคงยังไม่แข่งกับใครมาก เพราะกำลังผลิตผมยังไม่มาก โรงงานเฟสแรกจะไปเสร็จก็เป็นหน้าร้อนปีหน้า แต่เราก็จะเริ่มนำร่องตั้งแต่ปีนี้ ปีหน้าก็ต้องเจอกัน

เป็นการเรียกน้ำย่อยไปก่อน

ปีนี้ผมก็ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน เน้นการสร้างแบรนด์ ไม่เน้นโปรโมชั่น ปีหน้าถึงจะพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันอย่างแท้จริง

วางแนวทางยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร

คง ไม่พ้นทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ ทุกค่ายก็ทำเหมือนกัน และจะใส่ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งเข้ามา เพราะเดี๋ยวนี้ทีวีแพงมาก การใช้ออนไลน์ก็เป็นส่วนเสริม แต่สิ่งที่ผมว่าแข็งแรงและได้เปรียบคืออีเวนต์

การจัดจำหน่ายหรือกิจกรรมทางการตลาด

ได้ ดีทแฮล์ม (ดีเคเอสเอช) เข้ามาช่วยซึ่งคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ผมก็ไปทางอีเวนต์มาก จะรวมถึงการไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ซึ่งผมก็จะถือโอกาสทำ อีเวนต์ไปด้วย เพราะไม่ต้องไปไดรฟ์คนมาจากที่ไหนหรอก คนจัดงานเขาไดรฟ์กันมาเรียบร้อยแล้ว

นี่ถือเป็นจุดแข็งของผมที่จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และเป็นต้นทุนที่ต่ำ

ตั้งเป้าให้ดับเบิ้ลดริ้งค์ติดตลาดหรือแจ้งเกิดในกี่ปี

ช้า ไม่ได้ โรงงานเสร็จก็ต้องอัดเต็มที่ อย่างที่บอกว่าตอนนี้ก็ใช้งบฯเป็น 100 ล้าน ก็ต้องการให้ติดเลย ไม่ติดไม่ได้ ก่อนที่โรงงานเสร็จต้องมียอดขายอยู่ในกระเป๋าอย่างน้อย 400-500 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

คลังบทความของบล็อก