เสี้ยวหนึ่ง..จากความรู้สึก 'บัณฑูร ล่ำซำ' กับวันที่เป็น 'พลเมืองน่าน'

“ถามว่าผมอยากให้น่านไปทางไหน ผมก็อยากให้เป็นอย่างนี้ เป็นเมืองสงบ เป็นสโลว์ซิตี้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ” เป็นสิ่งที่เจ้าสัวใหญ่ผู้กุมบังเหียนธนาคารกสิกรไทย “บัณฑูร ล่ำซำ” เอ่ยปากกลางวงสื่อหลายสิบชีวิตไว้ เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยือนกิจการโรงแรมที่เมืองน่าน โรงแรมพูคาน่านฟ้า ที่ควักกระเป๋าซื้อและลงทุนตกแต่งเกือบ 50 ล้านบาท วันนี้เจ้าสัวบัณฑูรได้ผันชีวิตมาเป็น “พลเมืองน่าน” ไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแล้ว

หลังย้ายสำมะโนครัวมาขึ้นทะเบียนทำบัตรประชาชน ทำใบขับขี่ใหม่ ไปเมื่อกลางเดือน ม.ค. ปีนี้ ในวันหลังจากพิธีเปิดโรงแรม เจ้าสัวบัณฑูรก็พาคณะสื่อหลายสิบชีวิตเดินชมโรงแรม พร้อมกับเปิดโอกาสให้ซักถาม แม้จะมีเวลาไม่มาก แต่ก็ถือว่าเจ้าสัวอิ่มเอิบกับโรงแรมนี้อย่างมาก และกับการซื้อกิจการโรงแรมไม้สักแห่งนี้นั้น เจ้าสัวยืนยันหนักแน่นว่า... เป็นการซื้อในฐานะประธานกรรมการบริษัทเครือพูคา ที่เจ้าตัวออกปากว่าไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับธุรกิจธนาคารกสิกรไทยที่ทำอยู่ เมื่อประเมินจากความเห็นและเสียงซุบซิบรอบ ๆ .....

ทุกคนตอบตรงกันว่า งานนี้เจ้าสัวลงทุนเต็มใจเต็มแรง...

“โรงแรมนี้มีรูปแบบเหมือนสวิสชาเล่ต์ เรารู้สึกว่าโรงแรมนี้มีค่ามาก ๆ น่าเสียดายหากจะต้องถูกรื้อทิ้ง เราก็เลยเข้ามาช่วยดูแลต่อ แรก ๆ ที่มีข่าวออกไปคนเข้าใจผิดว่าแบงก์เป็นคนซื้อ สอง...เขากลัวว่าเราจะมาทุบทิ้ง เพราะเป็นที่กลางเมือง ซึ่งประเด็นแรกโรงแรมนี้ไม่เกี่ยวกับแบงก์เลย เป็นเงินส่วนตัวของผม ของบริษัทพูคา ส่วนเรื่องทุบทิ้ง ผมยืนยันหนักแน่นแต่แรกว่า เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย ผมตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะอนุรักษ์ไว้อย่างเดิม และก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด” เสียงเจ้าสัวบัณฑูรย้ำหนักแน่น

กับโรงแรมพูคาน่านฟ้า หรือโรงแรมน่านฟ้าเดิม ถือเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองน่านมานาน จนแทบกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน เจ้าสัวเล่าว่า ในอดีตโรงแรมน่านฟ้าชื่อ โรงแรม “นั่ม เส่ง เฮ็ง” โดยเป็นธุรกิจของชาวจีนโพ้นทะเลเชื้อสายไหหลำคณะหนึ่ง ต่อมาก็ได้ขายทอดกิจการให้กับนักธุรกิจตระกูลบุญซื่อ ซึ่งภายหลังตกทอดมาถึง ทวี บุญซื่อ (อดีตนายกเทศมนตรีเมืองน่าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดน่าน) จากนั้นขายต่อให้กับ เป็งหย่วน แซ่ห่าน ผู้เป็นบิดาของ วิโรจน์ หาริกุล ผู้ประกอบธุรกิจโรงเลื่อยจักรและค้าไม้แปรรูปอยู่แต่เดิม ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงสภาพใหม่ในปี 2498 ให้เป็นอาคารสามชั้น ใช้ไม้หมดทั้งหลัง มีห้องพัก 14 ห้อง

จากนั้นเมื่อสร้างเสร็จเป็งหย่วนได้ให้น้องชาย คือ เก่งหย่วน มาดูแลและดำเนินกิจการ และตั้งชื่อใหม่ว่า “น่านฟ้า” ซึ่งกิจการของโรงแรมก็ดำเนินต่อมาอีก 40 ปี จนปี 2552 ทายาทของเก่งหย่วน ได้ตัดสินใจขายกิจการและกรรมสิทธิ์โรงแรมน่านฟ้าให้กับบริษัทเครือพูคา ก่อนที่จะมีการปรับปรุงและต่อยอดจากชื่อเดิม เป็น โรงแรมพูคาน่านฟ้า ในวันนี้...

ประเมินจากเสียงของหลาย ๆ คน ตัวเลขลงทุนขนาดนี้ กับราคาสำหรับกิจการโรงแรมขนาด 14 ห้อง ห้องพัก จำนวนทั้งหมด 14 ห้อง ราคาค่าเข้าพักต่อคืนเริ่มต้นต่ำสุดที่ 2,000 บาท จนไปถึงสูงสุดที่ 4,000 บาท ทำเท่าไหร่ ? โอกาสคืนทุน คุ้มทุนเร็ว ก็คงยาก จึงไม่แปลกที่เจ้าสัวบัณฑูรเอ่ยปากกลางวงเมื่อมีคนถามว่า...นอกจากโรงแรมนี้แล้ว มองไปถึงธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคตด้วยหรือไม่?

“อย่าเพิ่งถามว่าคิดจะทำธุรกิจอะไรต่อ เอาโรงแรมนี่ให้รอดก่อนดีกว่า ความคาดหวังที่สุดของผมคือ แค่ไม่ขาดทุนก็ดีจะแย่แล้ว” เจ้าสัวกล่าวติดตลกเมื่อมีคนถามว่าอนาคตข้างหน้าจะมีธุรกิจอื่นแตกยอดออกมาหรือไม่?

เหตุที่เอ่ยเช่นนั้น ประเมินจากเสียงของหลาย ๆ คน หากพิจารณาในแง่คุ้มค่าทางมูลค่าที่เป็นตัวเงิน ก็ต้องบอกว่าสอบตก? แต่ถ้ามองในแง่ของความรักบวกมูลค่าความสุข เรื่องนี้หลายคนลงมติเอกฉันท์ให้เจ้าสัวบัณฑูรสอบได้เกรด A+ เพราะนอกจากการตกแต่งภายในที่ปรับเปลี่ยนให้ดูดีขึ้นแล้ว โครงสร้างหลัก ๆ ของโรง
แรม เจ้าสัวแทบไม่แตะต้องเลย

มองมุมนี้หลายคนอดสงสัยว่าเจ้าสัวมีอะไร ๆ กับเมืองน่านนี้หรือไม่? เรื่องนี้เจ้าสัวบอกว่า กับเมืองน่าน รู้สึกดีและชอบ มีความรู้สึกว่าเมืองน่านนี้เป็นเมืองที่สะอาด สงบ ทำให้อยากมีอะไรมาทำตรงนี้ จนไปพบว่าธุรกิจโรงแรมน่าจะทำได้ สืบไปสืบมาก็รู้ว่า...มีโรงแรมไม้เล็ก ๆ กลางเมือง ซึ่งเจ้าของเก่าทำไม่ไหวแล้ว ก็เลยตกลงว่าจะช่วยดูแลต่อ

“ก็ตั้งใจทำ และคิดว่าจะต้องทำให้ดีที่สุดด้วย” เสียงเจ้าสัวบัณฑูรย้ำหนักแน่น

ปัจจุบันเมืองน่านได้กลายเป็นหลักหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนมีอัธยาศัยดี สมกับที่มีการกล่าวขานกันว่า...“น่าน” เป็น “เสน่หามนตราแห่งลานนา” และด้วยความที่กลายเป็นดอกไม้หอมที่ยวนยั่วนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือนเพิ่มขึ้น จึงทำให้หลายคนกังวลว่า...น่านจะเปลี่ยนไป ?

กับเรื่องนี้ มุมมองของเจ้าสัวบัณฑูร มองว่า “ความเจริญที่จะเข้ามาทำให้เสน่ห์ของน่านหายไปนั้น ไม่ได้อยู่ที่ใคร แต่อยู่ที่คนน่าน ซึ่งผมเชื่อว่า น่านจะเป็นน่านแบบนี้ไปอีกนาน เพราะเท่าที่สัมผัสมา คนน่านค่อนข้างรักและหวงแหนถิ่นเกิดมาก ไม่ใช่ว่าใครจะอยากสร้างอะไรก็สร้างได้ ถ้าคนน่านเขายอมรับไม่ได้ เขาก็ไม่รับ ถ้าเขาไม่ยอมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใครจะมาฝืนก็ฝืนไม่ได้ สำหรับผมก็มองว่าดี เพราะปัจจุบันผมก็เป็นคนเมืองน่านไปแล้ว ผมเปลี่ยนสำมะโนครัวเป็นคนที่นี่ไปแล้ว บัตรประจำตัวประชาชนก็เป็นคนที่นี่ ก็คิดว่าในช่วงบั้นปลายก็อยากจะใช้ชีวิตที่นี่แหละ ถ้าถามว่าผมอยากให้น่านไปทางไหน ผมก็อยากให้เป็นอย่างนี้ เป็นเมืองสงบไปแบบนี้ นี่แหละดีที่สุดแล้ว”

และนี่ก็เป็นส่วนเสี้ยวความรู้สึกของเจ้าสัวใหญ่แห่งแบงก์รวงข้าว “บัณฑูร ล่ำซำ” ในวันที่ผันใจจากเมืองกรุง และมุ่งไปเป็น “พลเมืองน่าน” อย่างเต็มตัว และเต็มใจ.

'น่านต้องไม่หวั่นไหว'

“อดีตถึงปัจจุบัน ถามว่าน่านเปลี่ยนไปมากไหม ยืนยันว่าไม่มาก อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงแบบนั้น” เป็นเสียงของ เจ้าสม ปรารถนา ณ น่าน แห่งคุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) ที่ยืนยันกับเรา ก่อนบอกเล่าว่า นิสัยคนน่านจะเป็นคนเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีหลายคนทักว่า ณ น่าน เป็นสุกลที่เงียบ ๆ ไม่เหมือนที่อื่น ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็อาจจะเรียกได้ว่าค่อนข้างเจียมเนื้อเจียมตัว และมีนิสัยแบบพออยู่พอกิน

“สำรับอาหารของเรา มีแค่ข้าวเหนียว น้ำพริกถ้วย เราก็อยู่ได้” เจ้าสมปรารถนาสะท้อนเทียบลักษณะนิสัยการใช้ชีวิตพลเมืองน่านให้ฟัง ก่อนจะเล่าต่อว่า น่านเริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนภายนอกมากขึ้น ด้วยเพราะเสน่ห์ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี เทียบกับเมื่อก่อนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมืองน่านอยู่ส่วนไหนของประเทศไทย เหตุเพราะการเดินทางลำบาก ทำให้น่านเป็นเหมือนเมืองปิดที่น้อยคนจะเดินทางมาถึง หากไม่ตั้งใจมา แต่ปัจจุบันสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มมองหาสถานที่พักผ่อนที่เงียบสงบ และเริ่มมองหาแหล่งวัฒนธรรมเก่า ๆ ทำให้น่านกลายเป็นหลักหมายสำคัญใหม่ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว

“ถามว่ากังวลไหม คิดว่าไม่น่ากลัว เพราะคนมีความรู้มากขึ้น อีกอย่างทุกคนตระหนักดีว่าเสน่ห์น่านอยู่ที่วิถีดั้งเดิม ก็เชื่อเราคงไม่ทำลายหรือไปทำอะไรให้เกิดผลกระทบแน่นอน เพราะคนน่านรู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้คือจุดขายที่ดีที่สุดของเรา ดังนั้น น่านต้องไม่หวั่นไหว น่านจึงจะอยู่รอดปลอดภัย” เจ้าสมปรารถนา กล่าว.

ที่มา เดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก