
- กลุ่มเป้าหมายสมาชิก กอช.คือใคร
ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช.คือ แรงงานที่ไม่มีนายจ้าง อายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปี ยกเว้นปีแรกผู้ที่อายุเกิน 60 ปีสามารถเป็นสมาชิกได้ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมแรงงาน 30-40 ล้านคน ซึ่งช่วงแรกของการเปิดรับสมาชิกคิดว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นเกษตรกรในชนบท และกลุ่มการออมในชุมชนต่าง ๆ เพราะเท่าที่ลงพื้นที่ 7-8 ครั้งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยกลุ่มการออมของชุมชนต่าง ๆ มองว่า กอช.เป็นของแถม คือปกติออมกันเองไม่มีใครสมทบ เมื่อมี กอช.ก็จะออมมากขึ้น และนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นไปออมกับ กอช.ซึ่งได้เงินสมทบจากรัฐบาลด้วย

ที่จำกัดการออมเพราะต้องการให้รัฐบาลไปการันตีว่าจะจ่ายผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง อีกเหตุผลหนึ่งคือ รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นพบว่า หากประชาชนคนไทยวิ่งเข้าโครงการนี้ทั้งหมด รัฐบาลจะต้องใช้เงินประมาณ 33,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่ามากพอสมควรสำหรับรัฐบาลไทยที่มีเงินไม่มากนัก
นอกจากนี้ การที่กำหนดขั้นต่ำเพียง 50 บาทต่อเดือน เพื่อให้นับหนึ่งหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการออมอย่างแท้จริง คือออมสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ตัวเลขนี้สามารถปรับแก้ไขได้ โดยกฎหมายเขียนไว้ว่าสามารถทบทวนได้ทุก 5 ปี โดยจะพิจารณาจากเงินเฟ้อ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
- ผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับ
รัฐบาลการันตีจะจ่ายผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติจริงคิดว่าน่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่านั้น โดยมีสมมติฐานว่าจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 4.5% ซึ่งค่อนข้างอนุรักษนิยม แต่ต้องยอมรับความจริงว่าตัวเลขนี้ยังไม่ได้หักเงินเฟ้อออก อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในอดีต เช่น การบริหารกองทุนของ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนประกันสังคม เขาบริหารจัดการได้ผลตอบแทน 6-8% ดังนั้นถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย
- บำนาญที่ได้รับจะพอยังชีพไหม
ขึ้นอยู่กับเงินที่ออม และอายุ ถ้า ออมน้อย หรืออายุมากก็อาจจะได้เงินบำนาญไม่พ้นเส้นความยากจน โดยการออมแต่ละช่วงอายุ และจำนวนเงินที่แตกต่างกัน (ดูตาราง) ก็จะได้รับเงินบำนาญไม่เท่ากัน เช่น ถ้าออมตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เป็นเงิน 50 บาททุกเดือน จะได้บำนาญ 764 บาทต่อเดือน แต่ถ้าออม 1,100 บาททุกเดือน จะได้บำนาญ 10,795 บาทต่อเดือน
- ความเสี่ยงการบริหารเงิน กอช.
ทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ต้องบริหารจัดการไม่ให้เสี่ยงมากนัก ในช่วงแรกเชื่อว่าคณะกรรมการลงทุนของ กอช.จะระมัดระวังเน้นลงทุนในตราสารหนี้ และพันธบัตรของรัฐบาลเป็นหลักคล้าย ๆ กับกองทุนประกันสังคมที่ลงทุนในตราสารหนี้ถึง 80% แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะไม่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนของ กบข.ที่มีการลงทุนเสี่ยงมากกว่า
สุดท้าย นายกฤษฎามีความฝันว่า กองทุนจะเป็นพลังของชาติ เพราะกองทุนนี้จะโตเร็ว สมมติถ้าเกิดคนเข้าเป็นสมาชิก 50% ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด แล้วรัฐบาลสมทบด้วย ปีหนึ่งก็จะได้เงิน 50,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี ถ้าเป็นแบบนั้นจริง อีก 10 ปีจะเห็นกองทุนที่มีเงินมากกว่า 1 ล้านล้าน และอีก 20 ปีอาจกลายเป็น 10 ล้านล้าน ทำให้กองทุนนี้จะเป็นพลังของชาติ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ