ธุรกิจรับสร้างบ้านเหนื่อย น้ำมันแพงค่าแรงสูง

ธุรกิจรับสร้างบ้านปีนี้ไม่เติบโตเหมือนกับปี 2553 ที่เราเทียบกับปี 2552 ไม่เติบโตเลย” วิบูล จันทรดิลกรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านฟันธง ก่อนจะวิเคราะห์ว่าปัจจัยที่ส่งผลมีหลายประการได้แก่เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลสืบเนื่องให้ขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจก่อสร้าง ต้องยอมรับว่าแรงงานส่วนหนึ่งยังอยู่ในการซ่อมแซมบ้านที่ถูกน้ำท่วมในแต่ละภูมิภาค เมื่อแรงงานขาดแคลนทำให้บริษัทต้องลดการรับงานจากลูกค้าเพราะเกรงว่าจะสร้างเสร็จไม่ทันกำหนด
ปัจจุบันตลาดรับสร้างบ้านขาดแคลนแรงงานถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ประการถัดมาสินค้าราคาแพงขึ้น วัสดุก่อสร้างปรับราคา ผู้ประกอบการต้องทำงานอย่างระมัดระวัง เพราะสร้างบ้าน 1 หลังต้องใช้เวลา 1 ปี กว่าบ้านจะแล้วเสร็จและเมื่อถึงช่วงนั้นจึงส่งมอบงานได้ ประกอบกับการประกาศขึ้นค่าแรงของภาครัฐ 7-13 บาท ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคการก่อสร้างแม้ว่าอัตราค่าจ้างของแรงงานภาคก่อสร้างสูงกว่าภาคอื่นอยู่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้เรื่องของการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งคาดการณ์ว่า หลังเดือนเมษายนรัฐบาลจะปล่อยราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว ซึ่งขณะนี้รัฐรับภาระไว้ 5 บาทเท่ากับรับภาระไว้ 16-17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการเตรียมวางแผนรับมือไว้แล้วโดยคาดว่าจะปรับราคาบ้านเพิ่มขึ้น 5%

ปัจจัยกระทบของธุรกิจรับสร้างบ้านยังหนักหนาสาหัสอีกใน ปีนี้ ในสถานการณ์การเมืองที่เริ่มจะร้อนระอุท่ามกลางสภาพอากาศหนาว ๆ ฝน ๆ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านวิเคราะห์ปัจจัย ลบต่อมาว่า ช่วงตึงเครียดทางการเมืองที่จะเริ่มต้นในเดือน พ.ค. ที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง บรรยากาศทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคพอสมควร รวมทั้งภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น 0.75” ก็ทำให้การตัดสินใจช้าชะลอออกไป

“เท่ากับว่ากู้เงิน 1 ล้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 8,000 บาทต่อปี” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านระบุ

วิบูล กล่าวต่อว่า เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ แน่นอนผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปให้ผู้ซื้อ โดยอาจบวกลูกค้าในรายต่อไปเพราะเมื่อวางมัดจำตกลงกันแล้ว สินค้าปรับราคาขึ้นจะเรียกเก็บเงินเพิ่มกับรายแรกไม่ได้ บางรายคาดการณ์ไว้ต่ำ อาทิช่วงเดือนแรกของปีคาดการณ์ไว้ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผิดคาด ราคาของขึ้นน้ำมันเพิ่ม ราคาค่าก่อสร้างเพิ่ม 6-8 เปอร์เซ็นต์ ภาระที่เพิ่มขึ้นจะส่งต่อให้ผู้ซื้อรายต่อไป

เมื่อวิเคราะห์สภาพการณ์ของตลาดแล้วในปีนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมซึ่งมีอยู่ 45 ราย จะเน้นการทำตลาดด้วยการเน้นการให้บริการ และรวมตัวกันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อซื้อวัตถุดิบในการสร้างบ้าน แทนที่ต่างคนต่างซื้อ ซึ่งตอนนี้ที่สามารถซื้อในราคาพิเศษได้มี 3 รายการ คือ กระเบื้องคอนกรีตซีแพคโมเนีย คอนกรีตผสมเสร็จ พื้นลามิเนต และรั้วสำเร็จรูปเซ็นเซอร์

นอกจากนี้ในปี 2554 ทางสมาคมจะผลักดันให้สมาชิกบริหารจัดการก่อสร้างด้วยระบบไอเอสโอเพื่อลดความผิดพลาดช่วยประหยัดต้นทุน รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนลิขสิทธิ์แบบบ้าน

“ปัจจุบันการจดทะเบียนบ้านใหม่น้อยลงแต่ไปเปิดบ้านเลขที่ใหม่ในคอนโดมากขึ้น แต่ก็มีปรากฏการณ์ของการปลูกบ้านแทนที่บ้านหลังเดิมเพราะบ้านหมดอายุการใช้งาน ซึ่งบ้านราคา 2.5-5 ล้านเป็นบ้านที่ตลาดต้องการเพราะตอบสนองความต้องการใช้งานได้ดีกว่าบ้านจัดสรรทั่วไป” นายกสมาคมธุรกิจ มองถึงช่องทางทางธุรกิจสร้างบ้านเพื่อความอยู่รอด

ด้าน ศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทซีคอนโฮม ในฐานะบริษัทรับสร้างบ้านในแบรนด์ซีคอนและคอมแพค กล่าวว่า บริษัทได้ปรับราคาบ้านขึ้นมา 5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี เพราะราคาของสินค้าปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปูน สุขภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งเหล็ก สินค้าเหล่านี้ล้วนปรับราคาตามราคาน้ำมัน กระทบไปถึงภาคแรงงานด้วยที่ขาดแคลนอย่างหนัก โดยยอดสร้างบ้านต่อปีของบริษัทอยู่ที่ 300 หลัง ซึ่งตัวเลขจะอยู่ในระดับนี้ตลอด ขณะเดียวกันกำลังผลิตของบริษัทอยู่ในออร์เดอร์ที่รับไหว ซึ่งในปีนี้จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาบริหารจัดการเรื่องงานก่อสร้างทั้งหมด ตั้งแต่ระบบบัญชีการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างแบบรวมศูนย์ รวมทั้งความคืบหน้าก่อสร้างของบ้านแต่ละหลังจะต้องมีรายงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจะตอบคำถามของลูกค้าได้

“เพราะการก่อสร้างบ้านแต่ละหลังไม่ได้อยู่ที่เดียวกันดังนั้นเราต้องมีการบริหารจัดการที่แม่นยำ เพื่อไม่ให้ลูกค้ามีความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง”

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทซีคอนโฮม กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทเติบโตมาก แต่มาแผ่วในช่วงปลายปีเพราะปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง บวกกับดอกเบี้ยของธนาคารปรับขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งในยอดตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมารวมแล้ว 220 ล้านแบ่งเป็นบ้านของกลุ่มซีคอน 160 ล้าน ที่เหลือเป็นบ้านของคอมแพค ส่วนหนึ่งเพราะเราอยู่ในตลาดมานานผู้บริโภคเชื่อใจ และมีแบบบ้านให้ลูกค้าได้เลือกหลายแบบ โดยเฉพาะบ้านระดับ 2-3 ล้าน ถ้าลูกค้าต้องการออพชั่นที่เพิ่มขึ้น ต้องแก้แบบใหม่ราคาจะสูงขึ้นต้องมาคุยราคาใหม่เฉพาะจุดซึ่งส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำว่าสร้างตามแบบที่ออกแบบไว้จะคุมราคาได้

ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นอีกทางเลือกของผู้ต้องการมีบ้าน ปัจจุบันในตลาดมีบริษัทให้เลือกใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้นควรพิจารณาการใช้บริการอย่างถ้วนถี่ นายกสมาคมธุรกิจ ฝากคำแนะนำว่า ควรเลือกใช้บริการบริษัทที่มีวิศวกรประจำบริษัทเพราะค่าจ้างอาชีพนี้สูง มีบางบริษัทที่จะไม่จ้างวิศวกรประจำเมื่อมีปัญหาจะหาตัววิศวกรรับผิดชอบยาก และควรเป็นบริษัทที่เปิดดำเนินการมาหลายปี ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญาต้องให้บริษัทพาไปดูบ้านในราคาระดับเดียวกันที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อไว้เป็นข้อเปรียบเทียบหากมีปัญหาหลังก่อสร้าง และสุดท้ายควรเลือกบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคม

เกณฑ์พิจารณาเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้ผู้บริโภคได้บ้านไม่บานตามมาภายหลัง.
ที่มา เดลินิวส์

คลังบทความของบล็อก