นายกฯ เผย ศก.ไทยโตท่ามกลางมรสุม ศก.โลก-การเมือง มั่นใจรับมือได้

นายกฯ คาดไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ แจงภาพ ศก.ไทยโตได้แบบทุลักทุเล เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหา ศก.โลกที่ยืดเยื้อ และการเมืองในประเทศ มั่นใจรับมือได้ เผยหนี้สาธารณะที่ 42-43% รองรับการกู้เงินกระตุ้น ศก.ได้ หากจำเป็น ส่วนแนวคิดกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เป็นการฝืนกลไกตลาด-ไม่สามารถแก้ไขค่าเงินบาทได้ สำหรับปัญหาการเมือง รบ.จะเร่งแก้ไข รธน.-เดินหน้าแผนปรองดอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดการสัมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2554 :ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความขัดแย้ง โดยปาฐกถานำเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความท้าทาย ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังสามารถผ่านพ้นมาได้ ซึ่งถือว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังมีความเข้มแข็งพอสมควร

นายกรัฐมนตรี คาดว่าในปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ของไทย จะเติบโตได้ในระดับ 7.9% ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ประเมินเอาไว้ พร้อมระบุว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศขณะนี้ที่อยู่ในระดับ 42-43% ต่อจีดีพี เชื่อว่าจะรองรับการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากมีความจำเป็น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยขณะนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งความไม่สมดุลในจุดนี้ได้ส่งผลรุนแรงต่อการไหลเข้า-ออกของเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชีย รวมถึงกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยจุดนี้รัฐบาลได้ออกนโยบายในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้ว

"ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศจี 2 ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน ที่ยังตกลงไม่ได้เรื่องค่าเงิน จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนภาวะฟองสบู่ เงินเฟ้ออันเนื่องจากเงินทุนไหลเข้าและการเก็งกำไรผสมโรงด้วย ซึ่งเชื่อว่าปัญหาดังกล่าว ไม่จบลงโดยง่าย"

ส่วนการที่จะกลับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คงไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนได้ และยังเป็นการฝืนตลาด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อ คือ กำหนดแนวทางการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่จะนำเข้า ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมจูงใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ยังอยู่ในจุดที่แก้ไขได้ยาก จึงจำเป็นที่ภูมิภาคเอเชียต้องปรับตัวและหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีผลจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งแนวทางที่รัฐบาลจะทำในขณะนี้ คือ การเตรียมความพร้อมของเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ส่วนปัจจัยทางด้านการเมืองนั้น ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศเพื่อการปรองดอง ซึ่งล่าสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่ว่าสภาฯ จะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อยากให้ทุกอย่างจบ ซึ่งหากจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกนั้น ก็อยากให้ไปรอหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีส่วนช่วยแก้ปมปัญหาความในสังคมลงได้อีก

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดจะสอดแทรกมาตราที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม และการยุบพรรคการเมืองเข้าไปในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กำลังจับตาการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะมีการแข่งขันกันรุนแรงหรือไม่ ซึ่งหากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยก็จะถือว่าเป็นการเพิ่มความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วประเทศในปีหน้า

ส่วนปัญหาวิกฤตภัยธรรมชาตินั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณช่วยตรวจสอบงบประมาณ 2 ปีย้อนหลังในส่วนของงบเหลื่อมปีงบประมาณที่มีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจุดไหนยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณก้อนนั้น ก็จะให้ปรับงบดังกล่าวเข้ามาสู่การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ หากกระทรวงไหนทำได้น้อยก็อาจจำเป็นต้องริบเงินเข้ามาเป็นเงินคงคลัง

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวอภิปรายเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ควาไม่แน่นอนปี 2554 ว่า แม้ว่าขณะนี้ฐานะการเงิน การคลังประเทศมีภาพรวมเข้มแข็ง โดยปัจจุบันมีเงินคงคลังมากถึง 4 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีได้มากกว่านี้ เนื่องจากยังมีช่องว่างอยู่มาก แม้ว่าอัตราภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ในระดับสูง แต่จัดเก็บรายได้ต่ำมาก รัฐบาลสามารถลดหนี้สาธารณะได้ลงมาได้ ทำให้หนี้เงินกู้ของกองทุนฟื้นฟู ที่มีอยู่ 1.1 แสนล้านลดลง เนื่องจากรัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินดังกล่าวกว่าแสนล้านบาท

นางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยติดกับดักการยกระดับการพัฒนาเนื่องจากผู้ประกอบการอุตฯ ไม่สามารรถยกระดับอุตสาหกรรมได้ ผลิตภาพแรงงานไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินลงทุนของรัฐต่อจีดีพี ปี 41-52 เฉลี่ยที่ 25% เทียบอาเซียน อยู่ 27.5% นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการเมืองจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย มีคามเสี่ยงในการเปลี่ยนนโยบายกระทบต่อการลงทุนของเอกชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นโยบายเกษตร และการผลักดันนโยบายภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก