"ฟอร์บส" จัดอันดับ 15 ประเทศที่ร่ำรวยสุดในโลก

"ฟอร์บส" จัดอันดับ 15 ประเทศที่ร่ำรวยสุดในโลก
อยากรู้ไหมว่า ชาติไหนรวยที่สุดในโลก บางทีคุณอาจแปลกใจที่รายชื่อในทำเนียบเศรษฐีไม่มีชื่อประเทศมหาอำนาจที่เราคุ้นเคย
"ฟอร์บส" จัดอันดับ 15 ประเทศรวยสุดในโลก โดยใช้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อหัวต่อปี ที่ปรับตามความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ เป็นดัชนีชี้วัดความรวยของ 182 ประเทศทั่วโลก โดยอ้างอิงจาก ข้อมูลล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในปี 2553 ซึ่งเป็นดัชนีที่นักเศรษฐศาสตร์ ใช้เปรียบเทียบค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ แทนที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว เพราะอาจไม่สะท้อนความเป็นจริง

แชมป์ปีล่าสุด ที่มีความรวยเป็นอำนาจ ได้แก่ "กาตาร์" ชาติร่ำรวยน้ำมัน ในอ่าวเปอร์เซีย ที่มีประชากร 1.7 ล้านคน โดยได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานอีกครั้ง บวกกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่มาเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเมื่อปรับตามอำนาจซื้อแล้ว กาตาร์ มีจีดีพีต่อหัวต่อปี ที่ปรับตามอำนาจซื้ออยู่ที่ 88,222 ดอลลาร์ในปี 2553

กาตาร์ ยังโหมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ก๊าซเป็นของเหลวและส่งออก รวมถึงเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ไปไกลจนเกิดปัญหาเหมือนอย่างดูไบ นอกจากนี้ กาตาร์ ยังดึงดูดบริษัทการเงินข้ามชาติ ให้เข้ามาลงหลักปักฐาน เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของสหรัฐ ที่เข้ามาตั้งวิทยาเขตผ่านดาวเทียมในประเทศแห่งนี้ อีกทั้ง ทางการยังลงทุนด้านสาธารณูปโภค อาทิเช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และเครือข่ายรถไฟ ทำให้กาตาร์ เป็นประเทศน่าลงทุนทางธุรกิจ และได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลก 2022

รองแชมป์ ตกเป็นของ "ลักแซมเบิร์ก" ที่มีจีดีพีต่อหัวต่อปี 81,466 ดอลลาร์ ประเทศนี้ มีประชากรประมาณ 500,000 คน เป็นศูนย์กลางการเงินในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายปกป้องความลับภาคธนาคารอย่างเข้มงวด ทำให้อีกด้านของเหรียญ ลักแซมเบิร์ก ถูกใช้เป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษี

อันดับ 3 ได้แก่ "สิงคโปร์ " ซึ่งมีจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยี ภาคการผลิต และเป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญ แดนลอดช่อง มีจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 56,700 ดอลลาร์

อันดับ 4-6 ได้แก่ "นอร์เวย์" "บรูไน" และ "สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" (ยูเออี) ทั้ง 3 ประเทศ ติดอันดับความร่ำรวยจากทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน อย่างกรณีของนอร์เวย์ มีจีดีพีต่อคนต่อปี 51,959 ดอลลาร์ โดยรายได้หลักของนอร์เวย์ มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออกทั้งหมด

เช่นเดียวกับบรูไน ที่มีรายได้หลักจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ประเทศแห่งนี้มีจีดีพีต่อคนต่อปี 48,333 ดอลลาร์ และยูเออี มีสัดส่วนรายได้จากน้ำมันและก๊าซคิดเป็น 25% ของจีดีพี และมีจีดีพีต่อคนต่อปีที่ระดับ 47,439 ดอลลาร์

ส่วนอันดับ 7 คือ "สหรัฐ" มีจีดีพีต่อคนต่อปีที่อิงกับอำนาจซื้ออยู่ที่ 46,860 ดอลลาร์ ตามด้วยอันดับ 8 "ฮ่องกง" ศูนย์กลางการเงินอีกแห่งของเอเชีย มีจีดีพีต่อคนต่อปี 45,944 ดอลลาร์ อันดับ 9 "สวิตเซอร์แลนด์" จีดีพีต่อคนต่อปี 41,950 ดอลลาร์ อันดับ 10 "เนเธอร์แลนด์" 40,973 ดอลลาร์

อันดับ 11 ได้แก่ "ออสเตรเลีย" จีดีพีต่อคนต่อปี 39,764 ดอลลาร์ อันดับ 12 "ออสเตรีย" ตามมาติดๆ ที่ 39,761 ดอลลาร์ ส่วนอันดับ 13 "ไอร์แลนด์" 39,492 ดอลลาร์

ร่ำรวยอันดับ 14 ได้แก่ "แคนาดา" มีจีดีพีต่อคนต่อปี 39,171 ดอลลาร์ และอันดับ 15 "คูเวต" ที่พึ่งพารายได้จากแหล่งน้ำมันดิบสำรอง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจีดีพี มีตัวเลขจีดีพีต่อคนต่อปี 38,775 ดอลลาร์

แต่หากมาดูประเทศฟากจนสุดๆ กระจุกอยู่ในแอฟริกา ได้แก่ บุรุนดี ไลบีเรีย และคองโก มีจีดีพีต่อคนต่อปีแค่เพียง 400, 386 และ 312 ดอลลาร์เท่านั้น
ที่มาโดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์





คลังบทความของบล็อก