อาชีพ “ธนาคาร” เนื้อหอม-“แบงก์พาณิชย์” ฟาดหลักล้านรุมแย่งซื้อตัวคนเก่ง

“แบงก์พาณิชย์” เปิดศึกช่วงชิงคนเก่ง โดยตำแหน่ง “วาณิชธนกิจ” เป็นที่ต้องการมากที่สุด มีบางแห่งทุ่มเงินถึงหลักล้าน เพื่อล่าตัวมาอยู่ด้วย ด้าน “กสิกรฯ” ดึงคนรุ่นใหญ่ภาษาดี เพื่อรองรับตลาดทุนเสรีที่มีลูกค้าต่างชาติมากขึ้น ขณะที่ “ไทยพาณิชย์” รับเพิ่ม 2,000 คน หรือมากกว่า 2 เท่าของจีดีพี ส่วน “ธ.ทหารไทย” รับอีก 1,000 คน ปูพรมบริการลูกค้าทุกกลุ่ม

วันนี้ (7 มี.ค.) หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ปี 2554 ว่า จะมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.03 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังขาดแคลนแรงงาน ทั้งกลุ่มยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและสิ่งทอ ขณะที่อุตสาหกรรมธนาคารได้สะท้อนความต้องการรับพนักงานใหม่ เพื่อขยายธุรกิจและทดแทนคนลาออกด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจธนาคารพาณิชย์ไทย ถึงแนวโน้มทรัพยากรบุคคลในวงการธนาคาร พบว่า เมื่อปีที่ผ่านมาแต่ละธนาคารรอดูทิศทางเศรษฐกิจ จึงชะลอการรับพนักงานใหม่ และเมื่อต้นปี 2554 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้หลายธนาคารมีนโยบายรับพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และเพื่อทดแทนคนเก่าที่ลาออกไป โดยรวมธุรกิจธนาคารในระบบประกาศรับคนใหม่ประมาณ 10,000-12,000 คน เฉพาะ 5 ธนาคารใหญ่รับพนักงานประมาณ 7,000 คน ได้แก่ บมจ.กรุงเทพ 1,100-1,200 คน บมจ.กรุงไทย 1,250 คน บมจ.กสิกรไทย 3,300 คน ไทยพาณิชย์ 2,000 คน ขณะที่ บมจ.ทหารไทย เปิดรับ 1,000 คน

ส่วนตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการอย่างมากจนเกิดการแย่งซื้อตัวนั้น จะมีทั้งตำแหน่งวาณิชธนกิจ (Investment Banking: IB) ที่ปัจจุบันค่อนข้างขาดตลาด ประกอบกับธนาคารส่วนใหญ่ต้องการบุคคลที่มีประสบการณ์ระดับผู้บริหาร หรือหัวหน้าทีมโดยมีการเสนอค่าตัวสูงเป็นหลักล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งที่ปรึกษาให้คำแนะนำลูกค้าธุรกิจ หรือพนักงานด้านสินเชื่อขนาดใหญ่ ด้านบริหารการเงิน พนักงานสัมพันธ์ และด้านบริการทั้งลูกค้ารายย่อย ลูกค้าเอสเอ็มอี รวมถึงระดับปฏิบัติการ เป็นต้น

ด้าน นางสาวเดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) (บมจ.) กล่าวถึงแนวโน้มทรัพยากรบุคคลวงการเงินการธนาคาร ว่า ทิศทางธุรกิจธนาคารแนวโน้มดี เห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น การขยายการให้บริการลูกค้า การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มากขึ้น การขยายตัวของธนาคารต่างๆ ในเมืองไทยและธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย รวมถึงการที่ธนาคารเตรียมตัวรองรับลูกค้าที่หลากหลายเชื้อชาติ จากตลาดการเงินที่เปิดเสรี ที่ต้องการบุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น มาร่วมงาน เหล่านี้เป็นโอกาสของบุคคลที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคการเงินเพิ่มขึ้น

“โดยเฉพาะปีนี้ความต้องการแรงงานใหม่ในระบบธนาคารมีประมาณ 10,000-12,000 คน เป็นปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 40% โดยอัตราที่ประกาศรับสมัครดังกล่าว ทุกธนาคารยังคงระมัดระวังให้การเพิ่มคนสอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจ โดยที่ผ่านมาภาคธนาคารรับสมัครประมาณ 6,000-7,000 คน ลักษณะการรับพนักงาน จะเป็นการทยอยรับโดยดูสภาวะเศรษฐกิจไปด้วย เมื่อเห็นธุรกิจมีสัญญาณดีจึงมีการรับคนเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ การรับสมัครคนเพิ่มนั้น วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ เช่น ธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจรายย่อย ขณะเดียวกันเพื่อทดแทนคนลาออก ทั้งคนเกษียณอายุ เปลี่ยนงาน มีความจำเป็นทางครอบครัว ฯลฯ ที่สำคัญ คือ คนวัย Gen-Y (อายุประมาณ 24-29 ปี ) ที่ต้องการแสวงหางานที่ชอบ องค์กรที่โดนใจ บางส่วนก็ลาออกจากธนาคารเอกชนไปทำงานกับธนาคารของรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นมาก

สำหรับธนาคารกสิกรไทยปีนี้รับพนักงานเพิ่มอีก 3,300 คน วุฒิการศึกษาปริญญาตรีและโท 50:50 จากปัจจุบันธนาคารมีพนักงานทั่วประเทศ 15,500 คน ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับคนลาออก และเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ จากปีก่อนรับสมัคร 2,400 คน

“กลุ่มคนวัย Gen-Y หรือคนรุ่นใหม่จะลาออกเยอะ ยิ่งมีประสบการณ์ 3-5 ปี ยิ่งเนื้อหอม มีการดึงตัวระหว่างแบงก์ต่างๆ เพื่อไปสร้างทีม ไปสร้างธุรกิจได้ทันที โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่หารายได้ เช่น งานขาย งานพัฒนาธุรกิจ งานสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (RM) งานให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้า เป็นต้น ส่วนการกำหนดผลตอบแทน แต่ละแบงก์ต่างพยายามเสนอผลตอบแทนที่จูงใจ เพื่อดึงดูดคนใหม่มาร่วมงาน และรักษาคนเก่าไว้ สำหรับกสิกรไทยเน้นรับคนใหม่ที่มีความซื่อสัตย์ ทำงานแบบมืออาชีพ และมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร”

ขณะที่ ช่องทางการรับสมัครพนักงานนั้น พบว่า มีปริมาณการสมัครผ่านเว็บไซต์ 80% เพราะสะดวก รวดเร็ว ประหยัด โดยธนาคารต้องคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ปีนี้ประกาศรับจำนวน 3,300 คน เป็นการคัดเลือกจากฐานข้อมูลที่ยื่นใบสมัครประมาณ 30,000-40,000 อัตราเลยทีเดียว

นายมนูญ สรรค์คุณากร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มทรัพยากรบุคคล บมจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้ธุรกิจธนาคารอยู่ในห้วงของการเจริญเติบโต ขณะเดียวกันทรัพยากรบุคคลของธนาคารยังมีการลาออกซ้ำๆ (turn over) เป็นลักษณะที่หมุนเข้ามาเป็นระยะ คาดว่าจะอยู่ในลักษณะนี้ไปอีก 1-2 ปี ขณะที่ธนาคารพยายามจะคัดสรรคนใหม่ให้เข้ามาอยู่ในวิชาชีพนานๆ จึงจำเป็นต้องรับคนใหม่เพิ่มขึ้นคาดว่าน่าจะมากกว่า 2เท่าของจีดีพี

“สำหรับไทยพาณิชย์ รับคนใหม่ 2,000 คน จากที่มีอยู่ 19,000 คน เพื่อรองรับการขยายงานและการลาออกประมาณ 8-9% ต่อปี สำหรับตำแหน่งที่ต้องการมีทั้งที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการควบรวมกิจการ หรือเทกโอเวอร์ เพื่อรองรับงานลูกค้ารายใหญ่ที่ขยายตัว”

ปิดท้ายที่ ดร.เอกพล ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและทรัพยากรบุคคล บมจ.ทหารไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งใจจะดูแลและให้บริการลูกค้าในสาขา รวมถึงดูแลความสัมพันธ์และแนะนำทั้งลูกค้ารายใหญ่ รายย่อยและเอสเอ็มอี จึงรับคนใหม่อีก 1,000 อัตราเพื่อรองรับการขยายงานจากที่มีพนักงานอยู่แล้วกว่า 8,000 คน
อาชีพ “ธนาคาร” เนื้อหอม-“แบงก์พาณิชย์” ฟาดหลักล้านรุมแย่งซื้อตัวคนเก่ง
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คลังบทความของบล็อก