“ทุนนิยมแบบเอเชีย”: บทเรียนบางประการสำหรับประเทศตะวันตก

“ทุนนิยมแบบเอเชีย”: บทเรียนบางประการสำหรับประเทศตะวันตก
ทุนนิยมแบบเอเชียเป็นอย่างไร? และเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศตะวันตกได้อย่างไร?

ในเวลานี้สหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกมาเป็นเวลานาน มีสัญญาณของความเสื่อมถอยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยที่เผชิญอยู่และมีสัญญาณว่าแรงโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจนั้นได้เคลื่อนไปยังประเทศเกิดใหม่แล้ว ดังเห็นได้จากงานศึกษาจำนวนมากที่คาดการณ์ไปในทิศทางดังกล่าว
เช่น Subramanian (2011) พบว่า ช่วงปี 1870 สหรัฐและชาติตะวันตกเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ในปี 1973 ญี่ปุ่นเริ่มผงาดมาทดแทน บางประเทศในยุโรป จนกระทั่งปี 2010 จีนผงาดแซงอยู่ญี่ปุ่นและหลายชาติในยุโรป ขณะที่สหรัฐยังเป็นผู้นำ แต่ที่สำคัญคือคาดว่าปี 2030 จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกด้านเศรษฐกิจ สหรัฐเป็นอันดับที่ 2 โดยอินเดียสอดแทรกขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ขณะที่ประเทศในยุโรปเริ่มถดถอยลงไป

ในระยะหลังนั้นหลายประเทศทางเอเชียเริ่มก้าวเข้ามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะ จีนและอินเดีย รวมไปถึงสิงคโปร์ซึ่งติดอันดับต้นของโลกหลายเรื่องจากการจัดอันดับในมิติทางด้านเศรษฐกิจและเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2016 เกาหลีใต้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก จากอันดับที่ 15 ในปี 2010 จากการจัดอันดับของ IMF


อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน?

Mahbubani (Financial Time, February 07, 2012) ได้ตั้งข้อสังเกตและตอบคำถามในเรื่องนี้เอาไว้ว่าเป็นเพราะระบบที่แตกต่างกัน โดย “ระบบทุนนิยมแบบเอเชีย” (Asian-style capitalism) ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าระบบทุนนิยมแบบตะวันตกและสิ่งนี้เป็นบทเรียนที่ตะวันตกต้องเรียนรู้จากเอเชียหากต้องการที่จะเอาตัวรอดจากภาวะถดถอยที่ตนเองเผชิญอยู่

ทุนนิยมแบบเอเชียเป็นอย่างไร? และเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศตะวันตกได้อย่างไร?

ประการที่หนึ่ง ภาครัฐของประเทศในเอเชียไม่เชื่อว่าตลาดเสรีให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอ

ผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายของเอเชียจะยินดีเข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจโดยตรงเพื่อเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศตะวันตก เช่น การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม (Industrial policy) การควบคุมอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น เรื่องนี้เห็นได้ชัดในกรณีประเทศจีน ซึ่งร้อยละ 75 ของบริษัทขนาดใหญ่ของจีนนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เพิ่มจากร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (Walter quoted in Kurlantzick, 2011)

ขณะที่ประเทศตะวันตกมองว่ากลไกตลาดเป็นอุดมการณ์หนึ่งที่ต้องยึดถือเอาไว้ ภาครัฐในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อเสมอว่ากลไกตลาดฉลาดกว่ากฎระเบียบของรัฐ จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดและไม่ได้กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ ขณะที่ประเทศในเอเชียมองว่ากลไกตลาดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในอีกหลายเครื่องมือที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องยึดถือเอาไว้ สามารถไปใช้เครื่องมืออื่นได้ หากให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังเชื่อว่าระบบทุนนิยมจะทำงานได้ดี เมื่อภาครัฐเล่นบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและแนะนำ
ด้วยเหตุนี้ Mahbubani จึงเสนอว่าประเทศตะวันตกต้องเปิดรับทัศนคติแบบเอเชียที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และเปิดให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินเรื่องต่างๆ เท่านั้น

ประการสอง ทุนนิยมแบบเอเชียมีส่วนช่วยในการปกป้องแรงงานมากกว่าทุนนิยมแบบตะวันตก

ภาครัฐของประเทศในเอเชียพยายามดูแลปัญหาการว่างงาน โดยนโยบายให้แรงจูงใจกับภาคธุรกิจไปจนถึงการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ขณะที่ภาครัฐของประเทศในตะวันตกปฏิเสธที่จะออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม (Industrial policy) และเมื่อแรงงานต้องประสบปัญหาการว่างงาน ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายเชื่อว่าตลาดรู้ดีที่สุด จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดในการจัดสรรงานให้แก่แรงงาน

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทในเอเชียจะไม่ไล่พนักงานออกจำนวนมากและปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐและสังคมในการดูแลแรงงานเหล่านี้ แต่บริษัทเอกชนและภาครัฐจะช่วยกันในการหาทางรักษาคนงานเอาไว้ให้มีงานทำ ซึ่งการจ้างงานที่คงอยู่หมายถึงการที่ประชาชนมีกำลังซื้ออยู่และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้แล้วในระยะยาว การที่บริษัทได้แสดงความรักผูกพันไม่ทอดทิ้งพนักงานทำให้บริษัทได้รับความภักดีต่อองค์กรกลับคืนมา มีผลในการช่วยรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้ในองค์กรได้

ในทางตรงกันข้ามประเทศตะวันตกเช่นสหรัฐหรือในยุโรปนั้น บางบริษัทอาจให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นมากกว่า จึงตัดสินใจไล่พนักงานออกจำนวนมากเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทเอาไว้และปล่อยให้รัฐและสังคมเป็นผู้รับผิดชอบแทน เช่น ในช่วงหลายปีก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวและราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้สายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ปลดพนักงาน 4,000 ตำแหน่ง และสายการบินยูเอส แอร์เวย์ส ปลดพนักงาน 1,700 ตำแหน่ง เป็นต้น

นอกจากข้อแตกต่าง 2 ประการนี้แล้ว Mahbubani ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคบริการ และให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการลงทุนมากกว่าการส่งเสริมการบริโภคในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ข้อสังเกตของ Mahbubani นั้นน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างมีนัยสำคัญจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจน การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียอาจเป็นผลปัจจัยอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวไป

หากพิจารณาประเทศไทยเราจะพบว่า ประเทศไทยดำเนินตามแนวทาง “ทุนนิยมแบบเอเชีย” เช่นกัน หลายครั้งรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงและไม่ได้ปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเสรี นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือแรงงานให้มีงานทำอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่กรณีประเทศไทยมีความเฉพาะเจาะจงอยู่ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ทุนนิยมแบบไทย” นั่นคือ การที่นักธุรกิจและนักการเมืองมีการประสานประโยชน์ร่วมกัน เข้าไปสร้างอำนาจผูกขาดและรักษาอำนาจนั้นไว้เนื่องจากสามารถแสวงหากำไรได้ง่ายและมหาศาล ปัจจัยนี้เองที่ทำให้นโยบายที่ดีหลายประการในเชิงแนวคิดไม่อาจส่งผลดีได้มากนักในทางปฏิบัติ หากต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้มากกว่านี้เหมือนหลายประเทศในเอเชียก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้เสียก่อน.

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
ที่มา เดลินิวส์