บุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด เปิดเผยว่า ทองคำเข้ามามีบทบาทในประเพณีของคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่ในอดีต
เมื่อมีเด็กเกิดมามักจะนิยมรับขวัญด้วยทองคำ เมื่อแต่งงานก็มีทองคำเป็นสินสอดทองหมั้น มีแหวนนามสกุลทำจากทองคำ เพราะคนไทยมองว่าทองเป็นทรัพย์สินมีค่าจึงนิยมเก็บสะสม
“แต่ก่อนที่จะซื้อทองคำมาเพื่อขายคืนให้ได้กำไรนั้น ต้องเริ่มจากมีการออมเงินที่ดีเสียก่อน” บุญเลิศ แนะวิธีการให้ฟังว่า การออมเงินหรือนิสัยการออมสำคัญมาก จะต้องคิดก่อนว่าจะออมเท่าไร ใช้เวลาเท่าไร เมื่อวางแผนแล้วเงินที่เหลือจากการออมจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ในแต่ละเดือนซึ่งก็ต้องคำนวณด้วยว่าจะใช้เท่าไรในแต่ละวัน พอหรือไม่ ถ้าไม่พอ ก็ต้องขยายเวลาการเก็บเงินออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน
“การเก็บเงินได้มาก หรือน้อยไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่วินัยในการออม คือ ไม่ว่าจะเก็บเงินได้มากหรือน้อยขอให้เก็บและเก็บอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าพอราคาทองสูงขึ้นก็เลิกเก็บ โดยเลือกจำนวนเงินในการเก็บให้เหมาะสมกับตนเองด้วย”
เมื่อมีเงินออมอย่างที่ตั้งใจแล้ว ซึ่งเงินนี้ถือว่าเป็นเงินเย็น คือ เงินที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเอาไปใช้จ่ายอะไร จึงค่อยเอามาซื้อทองคำ ซึ่งถ้ามองในแง่ของการลงทุน หากมีเงินเก็บมากควรลงทุนในทองคำแท่ง นอกจากจะซื้อง่ายขายสะดวกแล้ว ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหรือต้นทุนการลงทุนยังต่ำกว่าทองรูปพรรณ เพราะไม่มีค่ากำเหน็จ
รวมทั้งการลงทุนใน เหรียญทองคำ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากนัก เพราะเริ่มออมทองได้ตั้งแต่ 1 สลึง 2 สลึง 1 บาท 5 บาท 10 บาท และไม่ต้องเสียค่ากำเหน็จเช่นกัน ด้านการจัดเก็บทองคำ หลายคนอาจมีข้อกังวลถ้ามีที่เก็บที่มิดชิด ปลอดภัยสามารถเก็บไว้กับตนเองได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจฝากไว้ให้ธนาคารดูแลให้ก็ได้
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ เข้าสู่ โปรแกรม ออมทอง ของบริษัทค้าทองก็ได้ จะออมผ่านเหรียญทองคำหรือทองคำแท่งก็ได้ โดยผู้ค้าไม่ต้องเก็บเงินเองทางบริษัทจะเป็นคนเก็บให้ โดยจะเอาเงินของเราที่ออมไว้ มาหารด้วยจำนวนวันทำการของบริษัทในเดือน
นั้น ๆ แล้วเข้าซื้อทองให้ทุกวัน เพื่อลดความผันผวนของราคาทอง ด้วยหลักการของการเฉลี่ยต้นทุน
ในส่วนของ ทองรูปพรรณ อาจจะไม่ค่อยซื้อไว้แล้วขายคืนเพื่อให้ได้กำไร เนื่องจากการลงทุน เป็นการหวังผลตอบแทน สิ่งที่เป็นอุปสรรคของทองรูปพรรณในการลงทุน คือ มีต้นทุนค่ากำเหน็จหรือค่าแรงในการทำให้ทองคำแท่งกลายเป็นทองที่มีลวดลายต่าง ๆ สวยงาม เมื่อนำไปขายคืนทองรูปพรรณจึงถูกหักราคามากกว่าทองคำแท่ง แต่เหมาะที่จะเป็นเครื่องประดับ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นการออมสะสมความมั่งคั่งส่งมอบเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ ฉะนั้น ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ 2 ประเภท คือ ออมด้วยและใช้เป็นเครื่องประดับด้วย ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออมทองผ่านทองรูปพรรณ
“ในการออมทองคำ สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจ คือ ทองคำไม่ใช่บริษัท เป็นสินทรัพย์ตัวหนึ่งที่ไม่มีการปันผล ไม่มีดอกเบี้ย แต่มีความเป็นกลางนี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของทองคำ คือ ไม่ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินใด ๆ ขึ้นอยู่กับตัวของทองเองเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อซื้อทองคำมาออมไว้ สิ่งเดียวที่คาดหวังคืออนาคตทองคำจะมีราคาสูงขึ้น แม้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทองคำมีเกณฑ์ราคาเพิ่มขึ้นตลอด ตรงนี้จึงมองได้ว่า ทองคำอย่างน้อยที่สุดไม่ด้อยค่า แต่ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อออมทองคำแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เหมือนได้รับเงินปันผล เหมือนได้รับดอกเบี้ย ฉะนั้น การออมทอง จึงมีความเสี่ยงอย่ามองแต่ว่าทองคำมีแต่ขาขึ้นเพราะทองคำขาลงก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน”
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญเลิศ กล่าวต่อว่า การออมทองคำอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ และทองคำไม่ควรจะมีอยู่ในพอร์ตการลงทุนมากนัก แม้ทองคำ จะจัดอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ควรจะมีในพอร์ตการลงทุน ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของเงินออม ซึ่งแต่ละคนอาจจัดสัดส่วนไม่เหมือนกันตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้ เช่น ถ้าชอบทองมาก ๆ อาจจะมีพอร์ตทอง 20 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ส่วนเงินออมที่เหลือกระจายไปยังหลักทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์
“หากทองราคาตกยังมีเงินออมในส่วนอื่นสำรองหรือสินทรัพย์ตัวอื่นขึ้นก็ยังได้กำไรในส่วนนั้นแทน หรือ หุ้นลง ทองคำก็จะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สุขภาพพอร์ตการลงทุนโดยรวมดี ฉะนั้น การสร้างพอร์ตหรือวงเงินในการออมเงินที่ดีนั้น ต้องไม่ลงทุนไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งหมด รวมทั้ง การออมที่ดีแบ่งเป็นเงินสดไว้ด้วย เช่น ฝากธนาคาร เพราะเมื่อเกิดฉุกเฉินจะได้เอามาใช้ได้อย่างสะดวก”
ด้านการซื้อทองคำ ต้องคำนึงไว้เสมอว่า เราไม่สามารถซื้อทองคำได้ในราคาที่ถูกที่สุด ในขณะที่ขายทองคืน เมื่อได้กำไรให้ขายออกได้ทันทีโดยไม่ต้องไปดูที่กำไรมากหรือน้อย แต่ให้ดูที่ผลตอบแทนเป็นหลักว่าพอใจหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ทองคำมีความเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ถือว่าดีมากแล้ว คือ ถ้าราคาทองขึ้นมา 3 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถขายออกได้โดยไม่ดูระยะเวลา แต่ถ้ารอได้ไม่อยาก เข้า ๆ ออก ๆ ร้านทองบ่อย ๆ ให้ดูราคาทองถ้าขึ้นประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ก็ขายคืนได้เลย แต่เงินออมทองในส่วนนี้ต้องไม่รีบร้อน หรือมีความเร่งด่วน สามารถรอได้
สิ่งที่ต้องคำนึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ การออมทองนั้น ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ช่วงนี้ทองราคาน่าจะสูงขึ้นก็ซื้อเพิ่ม แต่ถ้าเห็นว่าไม่ดี ไปต่อไม่ได้ ไม่ค่อยขยับสูงขึ้นเท่าไร อาจจะต้องลดปริมาณการซื้อลง
บุญเลิศ ทิ้งท้ายให้แง่คิดว่า “เมื่อเริ่มคิดหรือลงมือที่จะออมทอง ต้องเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอ มีวินัยในการเก็บเงินเพื่อที่จะไปซื้อทอง และมีทัศนคติที่ถูกต้องในการออมทอง ไม่ใช่ออมทองตามกระแสเพราะตื่นทองเห็นว่าราคาสูงได้กำไรดี การออมทองไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องได้กำไรตลอดเวลา เพราะเมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ฉะนั้น การออมอย่าไปพูดถึงกำไร ขาดทุน แต่ให้คิดว่า เป็นการสะสมความมั่งคั่ง เพราะทองมีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว”.
.......................................
6 ปัจจัยเพื่อการวางแผนด้านการเงินที่ดี
1. รู้จักรายได้ คือ รู้ว่ามีรายได้ที่แท้จริงเท่าไร
2. รู้จักรายจ่าย คือ รู้ว่าค่าใช้จ่ายหลักและรองเป็นเท่าไหร่ รวมทั้งสำรองจ่ายในยามฉุกเฉินไว้ด้วย
3. รู้จักเงินเฟ้อ คือ รู้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีผลต่ออำนาจการซื้อ หรือมูลค่าเงินเพื่อการใช้สอยโดยตรง
4. รู้จักดอกเบี้ย คือ รู้ว่าดอกเบี้ย คือ อีกเป้าหมายของมูลค่าเงินที่จะได้รับในการออมแบบทั่วไปที่เป็นที่นิยมกัน เช่น ฝากธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยของการฝากเงินแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
5. รู้จักภาษี คือ รู้หน้าที่ของตนเองว่าต้องเสียภาษี และตัวเลขภาษีนี้เองที่เราจะต้องรู้เพื่อที่จะได้สามารถจัดการได้ เช่น การออมเงินในธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปต้องเสียภาษีเงินได้ที่ 15 เปอร์เซ็นต์
6. รู้จักและไหวตัวต่อความเปลี่ยนแปลง คือ รู้ว่าจะติดตามข่าวสารในหลาย ๆ รูปแบบ ทำให้ทราบเหตุการณ์ความเคลื่อนไหว เพื่อจะได้ตัดสินใจต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น
โดยทั้ง 6 ปัจจัย เมื่อเริ่มทำแล้วต้องไม่ลืมอีกประการหนึ่ง คือ ความสม่ำเสมอ.
ทีมวาไรตี้
ที่มา เดลินิวส์