งัด4มาตรการทำประชานิยมเอาใจ'ชาวบ้าน'

งัด4มาตรการทำประชานิยมเอาใจ'ชาวบ้าน' ครม.ไฟเขียวคลอด 4 มาตรการเอาใจประชาชน ทั้งคืนภาษีรภคันแรก-รับจำนำข้าว-ขยายลดภาษีดีเซลอีก 3 เดือน-ขยายภาษีเงินได้วิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี พร้อมร่นเวลารถคันแรกให้เร็วขึ้นเป็น 16 ก.ย.นี้
หลังค่ายรถยนต์-สถาบันการเงินเจ๊งคนชะลอซื้อรถ รถเก๋ง 1,500 ซีซี ได้ภาษีคืน 1 แสน ส่วนรถประหยัดน้ำมันได้ 6 หมื่นบาท กระบะได้แค่ 1-2 หมื่นบาท “รมช.คลัง” ขอร้องคนจ้องสวมสิทธิ ขู่หากทำผิดเงื่อนไขให้ศาลสั่งคืนเงินแทน “ขนส่ง”เตรียมฐานข้อมูลให้สรรพสามิตแล้ว ด้าน “สภาพัฒน์” หวั่นรถทะลัก ส่วนจำนำข้าว 7 ต.ค. รับแบบไม่จำกัดปริมาณ คาดใช้เงิน 435,547 ล้านบาท แฉ “ธ.ก.ส.” มีเงินแค่ 9 หมื่นล้าน ต้องให้ “คลัง” เร่งหาทุนเพิ่ม กรมการค้าภายใน ใช้ 498 ล. เป็นค่าพีอาร์ 105 ล. ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตร ใช้ 208 ล. ค่าพีอาร์ 7.7 ล. ส่วน “อคส.-อ.ต.ก.” ใช้เงิน 9,958 ล.


ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.30 น. วันที่ 13 ก.ย. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง แถลงหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ผู้ซื้อรถยนต์ต้องทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.นี้-31 ธ.ค. 55 ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่จะกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เนื่องจากเห็นว่าหากกำหนดให้มีผลตามเดิมทำให้ผู้ประกอบการทั้งค่ายรถยนต์และสถาบันการเงินเดือดร้อนจากการที่ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อ เบื้องต้นมั่นใจว่าจะมีผู้ซื้อรถยนต์คันแรกประมาณ 5 แสนคัน ทั้งนี้มั่นใจว่าการคืนเงินภาษีสรรพสามิตจะมีผลที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน คาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 56

“กรมสรรพสามิตจะคืนเงินในรูปแบบของเช็คเงินสดครั้งเดียวเต็มจำนวน จะเริ่มคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 55 ผู้ใช้สิทธิขอคืนภาษีรถคันแรกไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือโอนเปลี่ยนมือภายใน 5 ปีแรก หากผู้ใช้สิทธิไม่ดำเนินการตามโดยไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อ หรือมีเหตุอย่างอื่น จำเป็นต้องคืนเงินภาษี หากไม่ดำเนินการตามอาจต้องใช้วิธีการทางศาลเพื่อสั่งให้คืนทะเบียนรถยนต์ เพราะกรมการขนส่งทางบกจะสลักไว้หลังเล่มทะเบียนรถยนต์อยู่แล้วว่าห้ามโอนเปลี่ยนมือภายใน 5 ปี โดยยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่ได้หาแนวทางการป้องกันการสวมสิทธิ แต่ก็ขอร้องผู้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์หรือผู้ที่มาซื้อแทนบุคคลอื่นเพื่อสวมสิทธิต้องขอความกรุณาให้เห็นใจคนที่ยังไม่เคยมีรถยนต์เป็นของตัวเองด้วย โดยในวันที่ 14 ก.ย. นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนมารับทราบแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนต่อไป” นายบุญทรง กล่าว

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกที่สำคัญดังนี้คือ ต้องเป็นรถยนต์คันแรกที่ทำสัญญาซื้อขายระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 54-31 ธ.ค. 55โดยมีราคาขายปลีกไม่เกินคันละ 1 ล้านบาท เป็นรถยนต์นั่งขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร, รถยนต์กระบะ หรือปิกอัพ และรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุกหรือดับเบิลแค็บ ที่สำคัญต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศหรือรถยนต์จดประกอบ ขณะที่การคืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ www.excise.go.th

“ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เหลือ 0% ออกไปอีก 3 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. -31 ธ.ค. 54 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งให้กับประชาชน โดยจะทำให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราลิตรละ 5.30 บาท หากคำนวณทั้งปีจะมีรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ครม.เห็นชอบให้กรมสรรพากรขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้พึงประเมินปีละ 1.8 ล้านบาท ออกไปอีก 3 ปี มีผลวันที่ 1 ม.ค. 54-31 ธ.ค. 56 จากเดิมครบกำหนดอายุวันที่ 31 ธ.ค. 54 นี้” รมช.คลัง กล่าว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตนั้นกำหนดที่ราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรมโดยรถยนต์ที่มีขนาด 1,500 ซีซี จะได้รับประโยชน์การคืนภาษีสูงสุดหรือประมาณ 1 แสนบาท ขณะที่รถประหยัดพลังงานจะได้รับเงินคืนประมาณ 60,000 บาท รถปิกอัพและรถดับเบิ้ลแค็บจะได้เงินภาษีคืนคันละ 10,000-20,000 บาท ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกว่าเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เติบโตอย่างยั่งยืน ควรสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ดังนั้น ควรส่งเสริมรถยนต์ที่เกิน 1,500 ซีซี ที่ใช้น้ำมันต่ำและใช้พลังงานทดแทนเข้าร่วมโครงการด้วย แต่ที่ประชุมครม.ไม่ได้ให้ความเห็นแต่อย่างใด โดยระบุว่าโครงการนี้เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเป็นรถคันแรกเท่านั้น

นอกจากนี้ สศช.ยังให้ความเห็นว่า ปริมาณรถที่จะเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนคัน จะมีผลกระทบต่อระบบจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้น ควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่ง รวมทั้งจัดพื้นที่จอดแล้วจรเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในการเข้าสู่ใจกลางเมืองด้วย เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน บรรเทาปัญหาความแออัดของการจราจร

นายเทียนโชติ จงพีร์เพียร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมพร้อมดำเนินการตามนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยเตรียมเชื่อมโยงฐานข้อมูลรายชื่อการยื่นขอจดทะเบียนการครอบครองรถยนต์ไปยังกรมสรรพสามิต ให้นำไปใช้ในการตรวจสอบว่าผู้ที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาก่อนหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีรายชื่อเคยยื่นขอจดทะเบียนกับ ขบ.มาก่อนก็จะถูกตัดสิทธิ อย่างไรก็ตามฐานข้อมูลการยื่นจดทะเบียนรถยนต์ของกรมฯ มีการบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั่วประเทศอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 ม.ค. 49 ส่วนก่อนหน้านี้อาจมีข้อมูลผู้จดทะเบียนบางรายตกหล่นบ้าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากยังไม่มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าในคอมพิวเตอร์

“ปัญหาดังกล่าวได้แจ้งให้กรมสรรพสามิตรับทราบปัญหาแล้ว ซึ่งกรมสรรพสามิต จะต้องไปหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป เช่น หากตรวจสอบไม่พบชื่อก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ สำหรับขั้นตอนของ ขบ. ก็ยังดำเนินการเช่นเดิม แต่จะเชื่อมข้อมูลไปยังกรม
สรรพสามิตเพื่อให้ตรวจสอบได้ ส่วนการประทับตราห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือรถยนต์ภายใน 5 ปี เพื่อป้องกันการนำรถไปขายต่อ เพื่อเก็งกำไรนั้น กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ดำเนินการประทับตราห้ามซื้อขายลงในสมุดทะเบียน หลังจากที่ผู้ซื้อนำสมุดทะเบียนที่ขบ.ออกให้ไปยื่นขอตรวจสอบและใช้สิทธิที่กรมสรรพสามิต” นายเทียนโชติ กล่าว

วันเดียวกัน น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 54/55 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)โดยจะเริ่มเปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.54-29 ก.พ. 55 มีระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับตั้งแต่เดือนที่รับจำนำ ระยะเวลาโครงการ วันที่ 7 ต.ค. 54-30 ก.ย. 55 โดยรัฐบาลจะรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกทั้งโครงการ และปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน

น.ส.อนุตตมา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในชนิดและราคาข้าวเปลือกที่รับจำนำนั้น แบ่งเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ รับจำนำ 20,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมจังหวัด 18,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 16,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว (กข 6) หรือเขี้ยวงู 16,000 บาทต่อตัน ข้าวเหนียวเม็ดสั้น 15,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 100% รับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 5% รับจำนำ 14,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10% รับจำนำ 14,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 15% รับจำนำ 14,200 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้า 25% รับจำนำ 13,800 บาทต่อตัน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า วงเงินที่ กขช.เสนอ ครม. พิจารณาสำหรับโครงการรับจำนำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 รวมทั้งสิ้น 435,547 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในการรับจำนำข้าว 25 ล้านตัน 410,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 25,547 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องที่จะสนับสนุนและดำเนินงานตามโครงการได้เพียง 90,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เกินอีก 320,000 ล้านบาท ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจัดหาเงินทุนให้แก่ ธ.ก.ส. และวงเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายบริหารสินเชื่อ วงเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 14,882 ล้านบาท แยกเป็น ค่าชดเชยต้นทุนเงิน 10,611 ล้านบาท และค่าบริหารสินเชื่อ 4,270 ล้านบาท โดยคิดในอัตรา 2.5% ของเงินต้นคงเป็นหนี้ระยะเวลา 5 เดือน

สำหรับอคส.และอ.ต.ก.มีวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 9,958 ล้านบาท แบ่งเป็นดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวน 2,625 ล้านบาท คิดที่ไม่เกิน 105 บาทต่อตัน แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับฝาก 1,375 ล้านบาท ค่าโสหุ้ย (โอเวอร์เฮด)ตันละ 50 บาท 1,250 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสาร 7,333 ล้านบาท

ขณะที่กรมการค้าภายใน มีวงเงินจ่ายขาดเพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในการรับจำนำ การประชาสัมพันธ์โครงการ การวางระบบการติดตามรายงานผลการรับจำนำ และเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตาม กำกับดูแล และตรวจสอบ รวมวงเงิน 498 ล้านบาท แยกเป็นอาทิ ค่าประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง วงเงิน 105 ล้านบาท

นอกจากนี้ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรมีวงเงินจ่ายขาด 208 ล้านบาท แยกเป็น อาทิ ค่าประชาสัมพันธ์ในระดับพื้นที่77 จังหวัด ๆ ละ 100,000 บาท เป็นเงิน 7.7 ล้านบาท.
ที่มาเดลินิวส์